วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ปรัชญาของโสกราตีส - The Philosophy of Socrates

I. Introduction (บทนำ)
ความเชื่อตามจารีตของชนชาวกรีกโบราณ พวกเขาเชื่อว่า บ้านเมืองต่างๆของพวกเขานั้นได้รับกฎเกณฑ์ต่างๆมาจากเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ปกป้องบ้านเมือง และความสุขหรือความดีที่เกิดขึ้น มาจากการดำเนินชีวิตไปตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น และต่างยอมรับหลักการของมันเช่นเดียวกับการยอมรับเทพเจ้าและเป็นเช่นนั้นชั่วนิรันดร์ แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาพวกโซฟิสท์ทั้งหลายกลับมีความสงสัยต่อศรัทธาอันนี้อย่างถึงราก
เช่นดั่งในกรณีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ โดยการปกปักษ์รักษาแนวคิดแบบสัมพัทธนิยม พวกเขาพากันยุติความขี้สงสัย รวมไปถึงข้อกังขาเกี่ยวกับปัญหาหรือคำถามที่มีต่อศีลธรรมด้วย และด้วยการมีอคติเกี่ยวกับเรื่องของอัตวิสัย(subjective) พวกเขาได้ยุติแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม(utilitarianism - การถือเอาประโยชน์เป็นสำคัญ)และสุขนิยม(hedonism)ลงด้วย ทั้งนี้เพราะ นั่นคือสิ่งที่ดีซึ่งสนองความพึงพอใจระดับสัญชาตญานและกิเลสของคน
ความเชื่อในหลักการต่างๆอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจริยาศาสตร์ ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในหมู่ชนชาวกรีกนั้น บรรดาพวกโซฟิสท์ทั้งหลายถือว่าเป็นอคติอย่างหนึ่ง และบ่อยครั้งเป็นการขัดขวางหน่วงเหนี่ยวชีวิตด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องขจัดออกไป
บรรดาโซฟิสท์ทั้งหลายยังเห็นว่า "ความดี" เช่นที่แสดงให้เห็นผ่านประสบการณ์ เกิดจากความมั่นคงของตนเองที่ได้มีการสั่งสม เป็นเจ้าของในเชิงปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเรื่องวิธีการที่นำมาใช้เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา สำหรับความดีเหล่านี้สามารถให้ความพอใจกับสัญชาตญานต่างๆและกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับความสุข
ความพยายามหรือมุ่งมั่นเพื่อที่จะเพิ่มความเข้มแข็งแก่บุคลิกภาพของคนๆหนึ่งให้มากขึ้น เพื่อที่จะไปพ้นหรืออยู่เหนือคนอื่นๆในเรื่องของความรุนแรง, และในการแข่งขันหรือต่อสู้ดิ้นรนสำหรับความดีแบบทางโลก - อันนี้คืออุดมคติทางศีลธรรมของพวกโซฟิสท์
บรรดาพวกโซฟิสท์ทั้งหลายยังโจมตีความเชื่อตามจารีตเกี่ยวกับ"สิทธิอันชอบธรรม"อย่างรุนแรงด้วย - ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากหลักการต่างๆที่ตั้งอยู่บนฐานของ"ความยุติธรรม" - และพวกเขาได้ทดแทนแนวคิดดังกล่าวด้วย"อำนาจ"สำหรับความยุติธรรมอันนั้น
จากช่วงขณะของการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของผู้คนในพลังประชาธิปไตย ได้เริ่มก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายขึ้นเป็นจำนวนมาก บรรดาโซฟิสท์ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงทำให้"สิทธิอันชอบธรรม"ทางการเมืองและ"ความถูกต้องชอบธรรมอื่นๆ"ขาดความน่าเชื่อถือลงไปเท่านั้น แต่ยังทำให้"สิทธิโดยธรรมชาติ"ได้ประโยชน์ด้วย
พวกโซฟิสท์ปกป้อง"สิทธิตามธรรมชาติ" แต่สิทธิตามธรรมชาติอันนี้ พวกเขาไม่ได้หมายถึงส่วนที่เป็นเรื่องของ"เหตุผล"ของมนุษย์ อันที่จริงแล้วพวกเขาหมายถึง"สัญชาตญาน"และ"กิเลสตัณหา"ของคน. ด้วยเหตุดังนั้นสำหรับพวกเขา "สิทธิ"คือสิ่งซึ่งที่ได้มาโดยการเรียกร้องตัวมันเองโดยผ่านการใช้อำนาจ หรือการบังคับเอาโดยได้รับการสถาปนาขึ้นมาจากอำนาจบังคับและความรุนแรง
มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วไม่เท่าเทียมกัน มันมีทั้งคนที่เข้มแข็งและคนที่อ่อนแอ และสิทธิชั่วคราว(the moment right)เกิดจากอำนาจ มันกลายเป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่เข้มแข็งกว่าที่เป็นคนออกคำสั่งและสร้างกฎหมายขึ้นมา; และผู้ที่อ่อนแอจะต้องเชื่อฟัง
Thrasymachus โซฟิสท์คนหนึ่ง, ในหนังสือเล่มที่หนึ่งของ Republic ของเพลโต ยึดมั่นใน"กฎธรรมชาติคือสิทธิอันชอบธรรมของผู้ที่เข้มแข็งกว่า". คนที่เข้มแข็งนั้น ดูถูกกฎหมายทั้งหมดที่ได้รับการเสนอขึ้นมาโดยคนที่อ่อนแอในนามของความยุติธรรม และยัดเยียดเจตจำนงของเขาให้กลายเป็นสิทธิอันชอบธรรม เช่นดัง Callicles ยืนยันไว้ในเรื่อง Gorgias ของเพลโต
ในที่นี้เรากำลังอยู่ในแนวคิดสุดขั้ว ที่ได้บ่งชี้ถึงคำสอนหรือทฤษฎีทั้งหมดของพวกโซฟิสท์. แนวคิดสุดขั้วดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับคนหนุ่มสาวของเอเธนส์ในช่วงเวลาของ Pericles (รัฐบุรุษแห่งเอเธนส์ 495-429 BC.) คนหนุมสาวทั้งหมดต่างกระวนกระวายที่จะได้รับหน้าที่หรือตำแหน่ง ซึ่งจะประกันความมั่งคั่งและความสุขใจให้กับพวกเขา คำสอนของโซฟิสท์ โดยความดีที่เหนือกว่าระเบียบแบบแผนทั้งหมดของจริยศาสตร์และความยุติธรรม ได้เปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มให้มีหนทางอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ และให้เหตุผลต่อการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความหลอกลวงหรือเล่ห์เพทุบายทั้งหมด และกิเลสอันรุนแรงอย่างถึงที่สุด
ด้วยเหตุดังที่ได้อธิบาย ผู้คนทั้งหลายจึงชื่นชอบและมักจะห้อมล้อมพวกโซฟิสท์บางคน อย่างเช่น Protagoras ผู้ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างผู้มีชัยชนะและอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ ในฐานะแขกคนหนึ่งในบ้านของชาวเอเธนส์ที่มีชื่อเสียงต่างๆโดยทั่วไป
โดยเหตุดังนั้น อย่างที่ได้อธิบายมาแล้วเช่นกัน ในฐานะที่เป็นภารกิจอันสูงส่งของโสกราตีส ผู้ซึ่งได้มาฟื้นฟูคุณค่าต่างๆของความมีศีลธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และไม่อาจล่วงละเมิดได้ เพราะมันตั้งอยู่บนพื้นฐานของ"เหตุผล"และไม่ใช่เรื่องของ"กิเลสตัณหา"อันไม่อาจควบคุมได้ โสกราตีสได้ใช้ชีวิตที่มีอยู่ทั้งหมด และดำเนินไปอย่างไม่ไร้ประโยชน์เพื่อการนี้

2. ความคิดเห็นโดยทั่วไป II. General Notions
บรรดาพวกโซฟิสท์ได้โยกย้ายความสนใจของพวกเขามาอยู่ที่มนุษย์ แต่พวกเขาก็หยุดมัน ณ ความประทับใจต่างๆอันอ่อนไหว ที่เป็นข้อมูลเชิงประสบการณ์(empirical data) โดยตรรกะแล้วพวกเขามาจบลงตรงที่ความขี้สงสัย
ส่วนโสกราตีส ได้ขับเคลื่อนต่อไปบนระนาบเดียวกันเช่นเดียวกับพวกโซฟิสท์ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ และยกเอาคติพจน์ของ Delphic ขึ้นมาคือ "จงรู้จักตัวของท่านเอง"(Know thyself)มาใช้ในฐานะที่เป็นมาตรฐานการสอนของเขา. เขามิได้หยุดลงที่เรื่องของความรู้สึกต่างๆ(sensations), ณ ความรู้ในลักษณะความคิดเห็น(opinionative knowledge); การสืบสวนของเขาโน้มเอียงไปสู่การพินิจพิเคราะห์และการตรวจสอบอย่างละเอียด ในเหตุผลของเขา ในส่วนลึกซึ้งและเป็นแก่นแท้มากกว่าของมนุษย์ ที่ซึ่งมนุษย์คือมนุษย์
มันเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลอย่างถึงแก่นอันนี้ ที่ทำให้เขาค้นพบความรู้ขึ้นมาอันหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะต่างๆของความเป็นสากลและความจำเป็น: นั่นคือแนวความคิด(concept). ข้อสังเกต การค้นพบของโสกราตีสอันยิ่งใหญ่นี้ ทำให้ปรัชญาได้พบกับวิถีทางของมัน และต่อมาภายหลังได้มาถึงความเป็นระบบต่างๆอันยิ่งใหญ่ ซึ่งความคิดจิตใจของมนุษย์สามารถสร้างขึ้นมาได้
โสกราตีส ก็คล้ายๆกับพวกโซฟิสท์ ไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องของเมตาฟิสิกส์, และสร้างข้อแก้ตัวให้กับตัวเองโดยกล่าวว่า ธรรมชาติทุกสิ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเทพเจ้าต่างๆ. เขาเพ่งความสนใจของตัวเองทั้งหมดลงยังการแสวงหาแนวคิดหรือมโนคติเกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรมต่างๆ; เขาถูกทำให้เชื่อมมั่นว่าปฏิบัติการทางศีลธรรมจะต้องนำหน้ามาก่อนสิ่งอื่นโดยแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม และเป็นปรปักษ์ต่อความคิดเกี่ยวกับการทำลาย ซึ่งเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับคำสอนของพวกโซฟิสท์
ภายหลังจากการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโสกราตีส บรรดาพวกโซฟิสท์มิได้หายสาบสูญไปแต่อย่างใด เราได้พบพวกเขาในช่วงระหว่างวันเวลาของอริสโตเติลด้วย แต่พวกเขาได้สูญเสียความมีอิทธิพลและความสำคัญของพวกตนไปจนหมดสิ้น

3. ชีวิตของโสกราตีส III. Life of Socrates
โสกราตีสถือกำเนิดในปี 470 หรือ 469 B.C.E., ในกรุงเอเธนส์ เป็นบุตรของ Sophroniscus, ผู้พ่อซึ่งมีอาชีพเป็นประติมากร และ Phaenarete ผู้เป็นแม่ซึ่งเป็นหมอตำแย. ในช่วงแรกเขาได้ร่ำเรียนศิลปะจากพ่อของเขา แต่ต่อมาภายหลังได้อุทิศตัวเองให้กับการทำสมาธิและการสอนปรัชญาโดยปราศจากค่าตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงความยากจนข้นแค้นของตัวเอง
ความสำนึกเกี่ยวกับงานอาชีพของเขา ซึ่งเขาพิจารณาว่ามันเป็นภารกิจแห่งสวรรค์ เขาไม่ยอมให้ตัวเองถูกทำให้ไข้วเขวโดยความกังวลใจเกี่ยวกับบ้านและความสนใจต่างๆทางการเมือง. โสกราตีสได้แต่งงานกับผู้หญิงชาวเอเธนส์คนหนึ่ง นามว่า Xanthippe ซึ่งเป็นคนที่มีคุณลักษณะทางอารมณ์ที่ปรวนแปรและแปลกประหลาดเอามากๆ. แน่นอน Xanthippe ไม่ใช่ภรรยาในอุดมคติ แต่จะต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า โสกราตีสก็ไม่ใช่สามีในอุดมคติเช่นเดียวกัน เขาลืมหน้าที่ต่างๆในบ้านของเขา เพราะมันอยู่นอกเหนือความสนใจอย่างสุดขั้วของเขาในเรื่องปรัชญานั่นเอง
โสกราตีสไม่ได้อุทิศตัวให้กับเรื่องทางการเมืองอย่างแข็งขัน แม้ว่าในช่วงวัยหนุ่ม เขาจะเป็นทหารก็ตาม และได้ช่วยชีวิต Alcibiades (นายพลและนักการเมืองชาวเอเธนส์)ในการศึกแห่ง Mantinea. เขาเชื่อว่า มันจะเป็นการดีกว่าที่จะรับใช้ประเทศของเขา โดยการอุทิศตัวเองในฐานะที่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่สมบูรณ์แบบที่สุด เชื่อฟังกฎหมายต่างๆ แม้กระทั่งจะต้องบูชายัญหรือสังเวยชีวิตของตัวเองก็ตาม และนอกจากนี้ การอุทิศตัวของเขายังจะเป็นการเตรียมคนหนุ่มให้มีความเฉลียวฉลาดขึ้น ในทางที่ตรงข้ามกับคนหนุ่มที่เห็นแก่ตัวและบ้าอำนาจซึ่งบรรดาพวกโซฟิสท์สร้างขึ้น ซึ่งได้เบี่ยงเบนไปและทำให้ประเทศชาติหย่อนยาน
แต่ทัศนคติและท่าทีในเชิงวิพากษ์และเหน็บแนมประชดประชันของโสกราตีส และการศึกษาที่ตามมาที่ถูกเสี้ยมสอนโดยเขา ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจโดยทั่วไปและความเป็นปรปักษ์ของผู้คน รวมไปถึงความเป็นอริส่วนตัวที่หลายๆคนมีต่อเขา ทั้งนี้โดยไม่คำนึงถึงความซื่อตรงหรือความตรงไปตรงมาของเขา
โสกราตีสเป็นที่ประจักษ์ในฐานะผู้นำของปัญญาชนชั้นสูงคนหนึ่ง ที่อยู่ด้านตรงข้ามกับทรราชย์หรือผู้ปกครองที่กดขี่ประชาชน และเป็นกระทั่งตัวกลั่นที่แท้จริงของพวกปฏิกริยา. สภาวการณ์ทางความคิดอันนี้ที่เป็นปรปักษ์ต่อโสกราตีส ซึ่งมันได้ตกผลึกและมีการนำเอารูปธรรมทางกฎหมายมาใช้เพื่อกล่าวโทษและประณามเขาอย่างรุนแรงโดย Meletus, Anytus, และ Lycon ในข้อหาคนหนุ่มที่ชั่วช้า ทุจริตคิดมิชอบ ปฏิเสธเทพเจ้าต่างๆของชาติ และได้นำเสนอเทพเจ้าองค์ใหม่ๆขึ้นมาแทน
โสกราตีสดูถูกเหยียดหยามการที่จะปกป้องตัวเอง และด้วยเหตุดังนั้น เขาจึงยินยอมให้กับความหยิ่งทะนงและความยโสอันไร้สาระของบรรดาผู้พิพากษาซึ่งได้ลบหลู่ตัวเขาให้ได้อายต่อหน้าผู้คน โดยบอกให้เขากล่าวขอโทษต่อการกระทำของตัวเขาไม่มากก็น้อย
ต่อสายตาของจิตวิญญานของตัวเอง เขาไม่ยอมพ้นโทษเพื่อชีวิตทางโลก เพราะเขาเชื่อว่า สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือการตัดสินอันเป็นนิรันดร์ของเหตุผล ซึ่งมันจะเป็นอมตะและไม่มีวันตาย. เขาเลือกที่จะตาย. เขาถูกประกาศว่ากระทำความผิดโดยคะแนนเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เขายืนขึ้นด้วยจิตวิญญานอันไม่อาจเอาชนะได้ และอย่างไม่ย่อท้อต่อหน้าศาลสถิตยุติธรรม และถูกตัดสินว่ามีความผิดให้ต้องตาย
โสกราตีสถูกบังคับให้อยู่ในคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนการประหาร (ทั้งนี้เพราะ กฎหมายห้ามให้มีการดำเนินการลงโทษประหารในช่วงระหว่างที่เรือศักดิ์สิทธิ์ไม่อยู่ เพราะต้องออกเดินทางไปที่ Delos ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งของกรีกปีละครั้ง) Crito สานุศิษย์ของโสกราตีสได้เข้ามาเยี่ยมเยือนเขาในคุก และวางแผนการหนีให้กับอาจารย์ของเขา แต่อย่างไรก็ตาม โสกราตีสปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น และประกาศว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขาไม่ปรารถนาที่จะทอดทิ้งการเชื่อฟังต่อกฎหมายต่างๆของประเทศของตน
เขาใช้เวลาผ่านไปโดยการเตรียมตัวสำหรับความตาย โดยการสนทนากับสานุศิษย์ทั้งหลายของเขาเกี่ยวกับเรื่องของจิตวิญญาน. และที่มีชื่อเสียงเหนือกว่าเรื่องใดของเขาก็คือ "การสนทนาในเรื่องความเป็นอมตะของวิญญาน"(dialogue on the immortality of the soul) ซึ่งมันเกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆก่อนการตายของเขา และเรื่องนี้ได้รับการสาธยายใหม่อีกครั้ง ด้วยศิลปะอันหาที่เปรียบมิได้โดยเพลโตในเรื่อง Phaedo
คำพูดสุดท้ายของโสกราตีสที่มีต่อบรรดาสานุศิษย์ของเขา ภายหลังจากความเงียบสงัดเมื่อเขาได้ดื่มยาพิษ(hemlock - เป็นพืชมีพิษชนิดหนึ่ง)ลงไปแล้ว คือ "ฉันเป็นหนี้ Aesculapius ด้วยไก่ตัวหนึ่ง" (Aesculapius คือเทพเจ้าทางด้านแพทยศาสตร์) ซึ่งได้เป็นผู้ส่งตัวเขาจากความชั่วร้ายของชีวิตด้วยของขวัญคือความตาย. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นปี 399 B.C.E., รวมอายุของโสกราตีสได้ 71 ปี

4. คำสอนของโสกราตีส: แนวความคิดต่างๆ IV. The Doctrine of Socrates: Concepts
หลักคำสอนของโสกราตีส สามารถที่จะได้รับการสรุปลงได้ด้วยคำเพียงสองคำคือ แนวความคิดต่างๆ(concepts), ศีลธรรม(morality) - หรือที่ดีกว่า ควรจะเป็น แนวความคิดต่างๆทางศีลธรรม
สำหรับโสกราตีส แนวความคิดคือสิ่งซึ่งเกี่ยวกับความคิดทั้งหมด เมื่อพวกเขาได้พูดถึงสิ่งๆหนึ่ง กล่าวคือ ในส่วนที่เป็นเรื่องของเหตุผลของคนทุกๆคน มันมีความนึกคิดต่างๆดำรงอยู่ ซึ่งต่างมีอยู่ร่วมกันทั้งหมด และด้วยเหตุนี้จึงมีความพอใจและความเพลิดเพลินอย่างเป็นสากลและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และแนวความคิดนั้น มันเป็นรูปแบบอันเป็นรากฐานของความเข้าใจหรือความรู้ที่แท้จริง(For Socrates, the concept is that of which all think when they speak of a thing. In the rational part of every man there exist some notions which are common to all and hence enjoy universality and necessity, and which form the substratum of true understanding or knowledge).
แนวความคิดเกี่ยวกับสิ่งซึ่งบรรดาโซฟิสท์ทั้งหลายพูดคุยกันนั้น มันเป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น(an opinion) หรือเป็นเพียงความรู้ชั่วแล่น(a fleeting instant of knowledge). โสกราตีสไม่ได้ประเมินคุณค่าความรู้นี้ว่าต่ำแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ได้พิจารณามันว่าเป็นความรู้ที่สมบูรณ์; สำหรับความรู้ที่แท้นั้น ควรจะดีพอที่จะสถาปนาขึ้นมาเพื่อรับใช้ในฐานะที่เป็นรากฐานของศาสตร์
ศาสตร์ที่แท้(true science)เป็นสิ่งสากล; นั่นคือ มันเป็นของร่วมกันหรือสาธารณะกับมนุษย์ทุกคนและเป็นเช่นนั้นตลอดเวลา; มันเป็นเรื่องของภาววิสัย(objective), ไม่ใช่เรื่องของอัตวิสัย(subjective)ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามชะตากรรม. ศาสตร์ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความเข้าใจโดยผ่านแนวความคิดต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่เป็นสากลเช่นเดียวกันกับศาสตร์ในตัวมันเอง
เพื่อเข้าถึงความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดต่างๆเหล่านั้น โสกราตีสได้ใช้วิธีการสนทนาแบบอุปนัย(inductive method - เป็นวิธีการพิสูจน์โดยอ้างประสบการณ์เฉพาะหน่วยที่แน่ใจแล้ว สนับสนุนข้อความทั่วไปที่ยังไม่แน่ใจให้มีความแน่ใจมากขึ้น) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิธีการของโสกราตีส(Socratic method), ส่วนประกอบที่สำคัญของมัน มีอยู่สองส่วนคือ การเหน็บแนม(irony), และการซักถามที่เป็นการสืบสวน(maieutics). โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นดังต่อไปนี้:
- อันดับแรก โสกราตีสจะยกคำถามขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น "อะไรคือความยุติธรรม?" เมื่อเขากล่าวออกมาเช่นนั้น เป็นเพราะตัวเขาเองไม่รู้ว่าความยุติธรรมมันเป็นอย่างไรกันแน่(อันนี้คือ การไม่รู้ของโสกราตีส - Socratic ignorance), เขาจะถามนักเรียนของเขาถึงสิ่งที่พวกเขาคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม
- บรรดานักเรียนทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกโซฟิสท์จะตอบคำถามไปตามวิธีการของพวกโซฟิสท์ โดยอ้างอิงตัวอย่างต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น "เทพเจ้าซีอุสคือความยุติธรรม"; "เทพเจ้าต่างๆล้วนคือความยุติธรรม" ฯลฯ. (อันนี้ยกเป็นตัวอย่าง). "โอ้, จำนวนความยุติธรรม!" โสกราตีสร้องทัก. "ฉันถามว่าอะไรคือความยุติธรรม แต่พวกเธอกลับตอบฉันถึงความยุติธรรมจำนวนมาก"
- ด้วยเหตุนี้ เขาได้ผ่านไปสู่การวิจารณ์(เหน็บแนม)เกี่ยวกับตัวอย่างต่างๆที่อ้างขึ้นมา โดยการที่เขามีความชัดเจนต่อความคิดต่างๆที่มีอคติของบรรดาสานุศิษย์ของเขา และความคิดที่ผิดพลาดเกี่ยวกับคำถามที่นำมาถาม
- จากการใช้วิธีการเหน็บแนม(irony) เขาจะผ่านไปสู่การตั้งคำถามในเชิงสืบสวน(maieutics) - ศิลปะซึ่งโสกราตีสใช้พูด เขาได้เรียนรู้มาจากแม่ของเขา ซึ่งเธอได้ช่วยเหลือในส่วนของร่างกาย ส่วนเขาได้ทำในส่วนที่เกี่ยวกับจิตวิญญานให้สมบูรณ์ขึ้น. (คำว่า maieutics นี้ได้รับการสืบทอดมาจากคำศัพท์ภาษากรีก" maieutikos," ซึ่งเป็นเรื่องของการผดุงครรภ์ หรือการคลอด). วิธีการตั้งคำถามในเชิงสืบสวน(maieutic)เป็นวิถีทางของโสกราตีสในการทำให้ความคิดต่างๆที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใจได้เผยตัวหรือคลอดออกมา
- การตั้งคำถามแบบสืบค้นเป็นส่วนของข้อสรุปของการสนทนา ซึ่งโสกราตีสพยายามที่จะทำให้สานุศิษย์ของเขามองเห็นว่ามันเป็นอย่างไร โดยการสะท้อนความคิดและการไตร่ตรองตัวของพวกเขาเอง พวกเขาสามารถสังเกตเห็นการมีอยู่ของธาตุแท้บางอย่างที่มีอยู่ร่วมกัน และจำเป็นต่อความยุติธรรมทั้งหมด (แนวความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม)
- ธาตุแท้เหล่านั้นมีลักษณะที่เป็นรูปธรรมในการนิยาม ซึ่งสรุปได้ด้วยคำต่างๆเพียงไม่กี่คำที่เป็นคุณลักษณ์เฉพาะที่ถูกวินิจฉัยว่า จำเป็นต่อแนวความคิดเกี่ยวกับคำถามที่ยกขึ้นมา
ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า การสนทนาของโสกราตีสไม่ได้ประสบผลสำเร็จในการนิยาม หรือทำให้นิยามความหมายมีความคงที่เสมอไป. ในหลายๆกรณี สิ่งที่เรียกว่า การไม่รู้ของโสกราตีส(Socratic ignorance) ซึ่งโสกราตีสได้สารภาพออกมานับจากเริ่มต้นของการตั้งคำถาม ไม่ใช่การโกหก. ดังนั้นการสนทนาจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง กระทำโดยการช่วยเหลือของนักเรียนทั้งหลายเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ถ้าเป็นไปได้ว่า มันก็จะนำพาไปสู่แนวความคิดหนึ่งได้ - นั่นคือความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับคำถามที่เสนอขึ้นมา

5. คำสอนของโสกราตีส: จริยศาสตร์ V. The Doctrine of Socrates: Ethics
ในเรื่องของจริยศาสตร์ โสกราตีสไม่ได้ไปพ้นจากการมีอคติของลัทธิปัญญาชนของกรีก ซึ่งทำให้การปฏิบัติต่างๆเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับทฤษฎีอย่างสมบูรณ์. มันเพียงพอแล้วที่จะรู้จักคุณความดี(virtue)เพื่อที่จะทรงไว้ซึ่งความดี
ทุกๆคนปรารถนาในความสุข. ถ้าเผื่อเขาไม่บรรลุถึงความสุข ก็เป็นเพราะเขาไม่รู้จักหนทางที่น้อมนำไปสู่ความสุขนั่นเอง. ผลที่ตามมา คนที่ได้รับการเรียกว่า"คนชั่ว"นั้น ความจริงแล้วเป็นคนที่ไม่รู้(ignorant)เท่านั้น; ความชั่ว(evil)ได้ถูกลดทอนลงสู่ความผิดพลาด(error). อย่างคำว่า"ความชั่วร้าย"(vice)เป็นคำที่พ้องกับคำว่า อวิชชา(ความไม่รู้-ignorance) ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับความดี(good)จึงเป็นคำที่พ้องกันกับคำว่า คุณงามความดี(virtue)
ด้วยเหตุนี้ จึงง่ายที่จะเห็นว่า ทำไมโสกราตีส ผู้ซึ่งมีเจตนาและความตั้งใจที่สร้างเยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีคุณความดีขึ้นมา และจำกัดการสอนของเขาลงมาสู่การแสวงหาเกี่ยวกับแนวความคิดต่างๆในเรื่องของศีลธรรม(moral concepts) สำหรับตรงนี้ควรจะได้รับการหมายเหตุลงไปว่า ลัทธิปัญญาชนทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่นำเสนอมาโดยตลอดความคิดกรีกทั้งหมด โดยไม่มีข้อยกเว้นในระบบต่างๆทางด้านจริยศาสตร์ของเพลโต และอริสโตเติล

6. สกุลความคิดรองของโสกราตีส VI. Minor Socratic Schools
คำสอนของโสกราตีสมีประเด็นหลักๆอยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือ อันแรกเป็นเรื่องของแนวความคิด ส่วนอันที่สองคือเรื่องของศีลธรรมหรือจริยธรรม. แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าลูกศิษย์ของโสกราตีสทั้งหมดจะบรรลุถึงความเข้าใจในความล้ำลึกเกี่ยวกับคำสอนของปรมาจารย์ของพวกเขา
สานุศิษย์เป็นจำนวนมาก แรกเริ่มเดิมทีได้ร่ำเรียนกันมาจากบรรดาพวกโซฟิสท์ หรือไม่ก็มาจากสำนัก Eleatics, และพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะ หรือดำรงตำแหน่งสถานะทางสังคมในช่วงเริ่มต้นของพวกเขา และในการเข้าใจและรู้ซึ้งความหมายเกี่ยวกับแนวความคิดของโสกราตีสในความบริสุทธิ์ของมัน พวกเขาเชื่อว่า แนวความคิดของโสกราตีสไม่ได้แตกต่างไปจาก Protagoras มากนัก ซึ่งกล่าวว่า "มนุษย์คือมาตรวัดของสรรพสิ่ง"( man -- measure-of-all-things) และในเรื่องคำสอนเกี่ยวกับ"ความดี"ก็เป็นอย่างเดียวกันกับคำสอนเรื่องนี้ของ Parmenides
ทายาทหรือผู้สืบทอดมรดกทางจิตวิญญานของ"โสกราตีส"คือ"เพลโต" ผู้ซึ่งอยู่ในอคาเดมีและได้นำพาคำสอนของปรมาจารย์ไปสู่การพัฒนาจนถึงขีดสูงสุดของมัน
คนอื่นๆ ภายหลังจากที่โสกราตีสถึงแก่กรรม ได้หวนกลับไปยังบ้านเกิดของตนเอง และได้เปิดสำนักความรู้ต่างๆขึ้นมา โดยการสอนสิ่งซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงการหวนกลับไปสู่คำสอนของพวกโซฟิสท์หรือเอเลียติค(Eleatic). สำนักความรู้เหล่านี้ถูกเรียกว่าสำนักความคิดรองของโสกราตีส(Minor Socratic Schools) ที่เรียกว่า Socratic ก็เพราะว่า หลังจากตัวอย่างต่างๆของโสกราตีส พวกเขาได้ให้ความสนใจในความรู้เกี่ยวกับศีลธรรม; และที่เรียกว่า Minor ก็เพราะ ความคิดของโสกราตีสไม่ได้รับการอธิบายเพื่อคุณความดีของตัวมันเอง แต่โดยการที่เอียงไปสู่ตำแหน่งเดิมต่างๆนั่นเอง สำนักความคิดชั้นรองมีอยู่ด้วยกัน 4 สำนักคิดคือ
1. The Megarian, ก่อตั้งขึ้นมาโดย Euclid แห่ง Megara
2. The Elian, ก่อตั้งขึ้นมาโดย Phaedo
3. The Cynic; และ
4. The Cyrenaic
ในที่นี้เราจะมาอธิบายถึงหลักการต่างๆของสำนักคิดสองสำนักคิดสุดท้าย ซึ่งทั้งสองสำนักนี้ได้ยึดครองความสำคัญที่แท้จริงมา นับตั้งแต่ที่มันได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษทางประวัติศาสตร์และคำสอนที่เป็นอนุสาวรีย์ทางความคิดอื่นอีกสองสำนักความคิด แห่ง Grecian ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก - นั่นคือ stoicism และ Epicureanism.

สำนักความคิดไซนิค The Cynic School.
สำนักความคิดนี้ได้รับการเปิดสอนขึ้นมาโดย Antisthenes, ผู้ซึ่งเป็นสานุศิษย์คนแรกของ Gorgias และภายหลังได้มาเป็นสานุศิษย์ของโสกราตีส. เขาได้สอนอยู่ที่ Cynosarges แห่งเอเธนส์ ด้วยเหตุดังนั้นมันจึงได้ชื่อว่า Cynic
Antisthenes สอนว่า ความรู้(knowledge - [cognition การรับรู้]ไม่อาจไปพ้นจากข้อมูลของผัสสะต่างๆ และในเมื่อ"ประสาทสัมผัส"ต่างๆเป็นเรื่องของ"ปัจเจก" เขาจึงสรุปว่า "มีเพียงปัจเจกเท่านั้นที่เป็นจริง" ยิ่งไปกว่านั้น ดังเช่นที่ปัจเจกชนทุกคนมีแก่นแท้ของตัวเองและไม่มีอื่นอีก Antisthenes จึงลงความเห็นว่า ความผิดพลาดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และในท้ายที่สุด ทุกนิยามความหมายจึงเป็นไปไม่ได้(Antisthenes inferred that error is impossible and finally every definition is impossible.)
ด้วยเหตุนี้ อะไรคือแนวคิดต่างๆที่โสกราตีสได้สนทนาถึง ? คำตอบง่ายๆก็คือ คำนามต่างๆ(nouns). Antisthenes คือผู้อาศัยประสบการณ์และการสังเกต และสำหรับเรื่องราวที่เกี่ยวกับเขานั้นได้รับการเล่าขานว่า เขาได้มีการปะทะคารมกับเพลโตครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแนวความคิดต่างๆ เขากล่าวว่า:
"โอ้! เพลโต ฉันเห็นม้าตัวหนึ่ง แต่ความเป็นม้า(horseness) ฉันมองไม่เห็นมัน"
เพลโตตอบว่า: "ท่านมิได้เห็นความเป็นม้า เพราะท่านไม่มีอะไรเลย เว้นแต่ลูกตาเฉยๆที่ติดมากับร่างกาย"
ในทางจริยศาสตร์ คุณงามความดี(virtue)มิใช่หนทางที่ทำให้บรรลุถึงสิ่งที่ดี(good) แต่มันคือสิ่งที่ดีในตัวของมันเอง. ในเมื่อคุณงามความดีคือสิ่งที่ดี ดังนั้นความชั่วร้าย(vice)จึงเป็นสิ่งที่ชั่ว(evil)ในตัวมันเองด้วย. ทว่าคุณงามความดีมันเกิดขึ้นมาจากอะไร? ในความคิดแบบเอกาธิปไตย(autarchy) ยกตัวอย่างเช่น ในการครอบครองเหตุผลของคนๆหนึ่ง ซึ่งบอกกับเราถึงความพึงพอใจต่างๆ ความร่ำรวย และทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกเรียกว่าอารยธรรมของคนๆหนึ่งคือสิ่งชั่วร้าย ที่มันเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายเพราะ มันทำให้รู้สึกถึงความต้องการเหล่านั้น.
โดยเหตุนี้ แนวคิดของไซนิค จึงแยกตัวออกไปต่างหากจากสังคม และดำรงอยู่อย่างมนุษย์ในยุคบุพกาลด้วยสิ่งของที่จำเป็นเพียงไม่กี่อย่าง และสิ่งที่ไม่กี่อย่างเหล่านี้มันได้มาจากธรรมชาตินั่นเอง ระหว่างธรรมชาติกับสังคมอย่างที่เรารู้กัน โดยความสุขสบายทั้งหมดของชีวิต มันมีความแตกต่างเช่นเดียวกันกับเรื่องระหว่างคุณงามความดี และความชั่วร้าย. การดำรงชีวิตอยู่โดยความเข้าใจธรรมชาติ นั่นคือ แบบจำลองของชีวิตแบบไซนิค
บุคคลซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของสำนักความคิดไซนิคคือ Diogenes แห่ง Sinope. ลัทธิไซนิคเป็นปฏิกริยาอันหนึ่งระหว่างชนชั้นที่ยากจนกับชนชั้นสูงที่ตรงข้ามกัน; โดยที่ปฏิกริยาดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาในนามของธรรมชาติ

สำนักความคิดไซเรนเนียค The Cyrenaic School.
สำนักความคิดนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาที่เมือง Cyrene, ซึ่งในช่วงวันเวลานั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของลิเบีย(อยู่ทางแอฟริกาตอนเหนือ) ก่อตั้งขึ้นมาโดย Aristippus ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเป็นสานุศิษย์ของโสกราตีส เขาได้เคยฟังการบรรยายของ Protagoras.
ในเรื่องของการรับรู้ สำหรับ Aristippus แล้ว เพียงประสาทสัมผัสต่างๆส่วนตัวเท่านั้นจึงเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้; อันนี้เป็นการแสดงนัยะว่า ขอบเขตของความรู้นั้น ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การรับรู้(cognition)ของสภาวะหนึ่งภายหลังอีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งตัวตน(ตัวรับ)ได้สังเกตตัวของตัวเองในฐานะประสาทสัมผัสต่างๆ ดังนั้นพวกเราจึงเป็นอายตนะนิยมอันบริสุทธิ์(pure sensism) ตามสิ่งซึ่งความจริงเป็น แต่ก็เป็นความต่อเนื่องของปรากฎการณ์อัตวิสัย โดยไม่มีความสัมพันธ์อะไรเลยกับวัตถุภายนอกใดๆ
สำหรับ Aristippus ไม่มีเรื่องของเมตาฟิสิกส์หรือสิ่งที่เหนือจากความจริงทางกายภาพ ในเมื่อตัวตนยังคงแนบชิดอยู่กับเรื่องประสาทสัมผัสต่างๆ
เกี่ยวกับเรื่องของจริยศาสตร์ บรรดานักคิดสำนักไซเรนเนียน ค่อนข้างจะตรงข้ามกับพวกไซนิค นั่นคือ พวกเขายืนยันว่า คุณงามความดีมีไว้เพื่อความพึงพอใจ ส่วนความชั่วร้ายดำรงอยู่ในความเจ็บปวด. ตามหลักตรรกะอันนี้ของพวกเขา คุณงามความดีจึงเป็นผัสสะที่ให้ความพึงพอใจ และความชั่วร้ายเป็นผัสสะที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด
บรรดานักคิดไซเรนเนียนมีทฤษฎีของพวกเขาเกี่ยวกับประสาทสัมผัสอันหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดคือ
1. สิ่งที่ให้ความพอใจ(pleasant)
2. สิ่งที่ให้ความเจ็บปวด(painful) และ
3. เฉยๆ(indifferent)
คนฉลาดจะพยายามแสวงหาหนทางที่ไกลห่างจากสิ่งที่ให้ความเจ็บปวด หรือพยายามลดมันลงมาให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่เขาจะเปลี่ยนความเป็นกลางหรือความรู้สึกเฉยๆไปสู่ผัสสะของความพึงพอใจต่างๆ
ในด้านหนึ่งนั้น คุณงามความดีมีไว้เพื่อน้อมนำให้ตัวเองไปสู่สภาวะทางอารมณ์ต่างๆที่สุภาพอ่อนโยนมากเท่าที่จะเป็นไปได้. เนื่องจากเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่สภาวะของการยอมจำนนหรือเป็นฝ่ายรับ(passive) ผัสสะที่น่าพอใจซึ่งมีคุณงามความดีประกอบอยู่ แต่ในทางสูงสุดมันพยายามที่จะปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยและดำรงอยู่กับความพึงพอใจในระดับสูงสุด (อันนี้ได้รับการเรียกขานว่า ลัทธิสุขนิยมพลวัต - dynamic hedonism)
คนฉลาดจะต้องพยายามธำรงความเป็นนายให้อยู่เหนือตัวของเขาเอง ขณะเดียวกันก็จะต้องดำรงอยู่ในแก่นกลางของความพึงพอใจ. เขาจักต้องครอบครองมันแต่จะต้องไม่ถูกมันยึดครอง ดังที่ Horace ได้กล่าวเอาไว้เช่นนั้น. ในสภาวะที่เลิศสุด นักคิดไซเรนเนียนที่เฉลียวฉลาดจะเป็นคนที่มีความสุข ซึ่งได้ค้นพบข้อจำกัดหนึ่งเพียงในเรื่องของเหตุผลเท่านั้น
บรรดาสานุศิษย์ของ Aristippus ได้พัฒนาสิ่งกระตุ้นในเรื่องของเหตุผลไปไกลเกินกว่าความพึงพอใจทีรับรู้ได้อย่างฉับพลัน และถูกทำให้สิ้นสุดลงโดยการสรุปของ Theodore ผู้ไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า(Atheist) ว่า "ไม่มีอะไรที่ดำรงอยู่เลย เว้นแต่ความพึงพอใจ". ส่วนคนอื่นๆ อย่างเช่น Hegesias, ผู้เชื้อเชิญความตาย ได้มาสู่ข้อสรุปที่ว่า "ชีวิตเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่โดยไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย ถ้าเผื่อว่ามันขาดแคลนซึ่งความพึงพอใจ"
นั่นคือสองตัวอย่างของสำนักทางความคิดรองแบบโสกราตีส(Minor Socratic Schools) ส่วนสำนักทางความคิดแบบโสกราตีสที่ยิ่งใหญ่สุดนั้น หรืออ้างถึงสำนักทางความคิดหลักแบบโสกราตีส(Major Socratic School) ก็คือ"อคาเดมี"ของเพลโต(the Academy of Plato) ซึ่งความคิดหลักต่างๆได้ดำรงอยู่อย่างใกล้ชิดมากกับเจตนาดั้งเดิมของคำสอนของโสกราตีส

Plato & Aristotle Philosophy

1. Socrates
ก่อนจะรู้และเข้าใจเพลโตต้องเข้าใจโสเครติสก่อน โสคราตีส นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่ โสคราตีส ไม่มีผลงานการเขียนทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา โสคราตีสไม่ได้สอนปรัชญา สิ่งที่โสคราตีสปฎิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน คือ ค้นหาความจริงร่วมกับคนอื่นๆ สิ่งเดียวที่โสคราตีสยืนยันคือ ความไม่รู้ของตัวเขาเอง โสคราตีสแปลกไปจากนักคิดคนอื่นๆ คือไม่เริ่มจากความรู้ โสคราตีสไม่ใด้เป็นส่วนหนึ่งของระบบปรัชญาและไม่ได้สร้างระบบปรัชญาใดขึ้นมา สิ่งเดียวที่โสคราตีสค้นหาคือ ความจริงเกี่ยวกับตัวของเขาเอง โสคราตีสมีชีวิต ใช้ชีวิตเพื่อการค้นหาความจริง อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการศึกษาสูง โสคราตีสสนใจอยากเรียนเรื่องการใช้ภาษากับโปรดิคุส แต่จ่ายค่าสอนได้เพียงคอร์สเล็กๆ โสคราตีสเริ่มอาชีพด้วยการเป็นช่างแกะสลัก เล่ากันว่ามีงานของโสคราตีสอยู่ที่อโครโปลิส โสคราตีสเป็นคนหนุ่มที่มีแววดี มีความฉลาดเฉลียว ไครโตเป็นคนค้นพบว่า โสคราตีสมีวี่แววว่าจะเป็นนักปรัชญาที่ดี จึงให้คำแนะนำโสคราตีสว่า น่าจะศึกษาปรัชญา เดิมทีเดียวโสคราตีสสนใจการศึกษาปรัชญาธรรมชาติ แต่คำตอบของปรัชญาธรรมชาติในยุคกรีกโบราณ ไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่โสคราตีสได้ เนื่องจากวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ แม้ประเด็นคำถามจะน่าสนใจ แต่คำตอบยังขาดความชัดเจน การศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในยุคโบราณ อยู่ในระดับของสมมุติฐานเท่านั้น ไม่มีห้องทดลองที่จะสร้างโมเดล เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นโสคราตีสจึงหันเหความสนใจมาที่การศึกษาจริยศาสตร์ โดยเฉพาะการค้นหาความรู้เกี่ยวกับตัวเอง ที่โสคราตีสใด้รับแรงบันดาลใจ จากข้อความที่ปรากฎที่วิหารเดลฟี ว่า จงรู้จักตนเอง ตลอดชีวิตโสคราตีสค้นหาความหมายของข้อความนี้ โสคราตีสถูกพิพากษาโดยประชาชนชาวเอเธนส์ ให้ดื่มยาพิษ ที่มีชื่อเรียกว่า Hemlock โสคราตีสถูกพิพากษาโดยประชาชนชาวเอเธนส์ ด้วยข้อหาว่า ไม่เคารพต่อเทพเจ้าของรัฐ ขาดศรัทธาต่อเทพเจ้า วิธีการนำเสนอปรัชญาแบบโสคราตีส ทำให้คนหนุ่มมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี สร้าง ระบบความคิดใหม่ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อรัฐ ( กระแสแนวคิดใหม่ๆ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ปกครองแม้ในสมัยปัจจุบัน ) กรณีของโสคราตีสกลายเป็นกรณีศึกษา ประชาชนชาวเอเธนส์ทำร้ายนักปรัชญาผู้บริสุทธ์ ชาวเอเธนส์ไม่สามารถสร้างขันติธรรมต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และการใช้อำนาจทำร้าย บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีแนวคิดที่แตกต่าง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คนในสังคมขาดวิจารณญาน มีการตัดสินผิดพลาด สิ่งนี้คือข้อจำกัดของมนุษย์ โสคราตีสไม่กลัวตายและไม่หนี เขายอมรับคำพิพากษาโดยดุษฎี โสคราตีสเคารพกฎหมาย และท่าทีของเขาปรากฎในงานของเพลโตเรื่อง อพอลโลจี ( Apology ) โสคราตีสยอมรับพันธะที่จะต้องเชื่อฟังกฎหมาย เขายอมรับคำพิพากษา ดุจเดียวกับพลเมืองต้องกระทำตามคำสั่ง ให้ออกสู่แนวหน้า โสคราตีสคิดว่า เขาไม่มีสิทธิชูมือคัดค้านประเทศหรือพ่อแม่ของตนเอง ถึงแม้จะเชื่อว่าการปฎิบัติที่ได้รับไม่เป็นธรรม
โสคราตีสในวัยหนุ่ม ไม่ปรากฎรายละเอียดของชีวิตของเขามากนัก ทราบจากหลักฐานในงานของนักปรัชญาร่วมสมัยกับโสคราตีส เช่น เซโนฟอน เพลโต ดีมีทรีอุสแห่งพาลีรอน อริสโตเซนุส จักรพรรดิจูเลียน ทำให้พอจะเห็นภาพโสคราตีสว่าเป็นใคร มีประวัติชีวิตความเป็นมาอย่างไร บิดาของโสคราตีส ปรากฎหลักฐานว่ามีอาชีพช่างแกะสลัก บางหลักฐานว่ามีอาชีพเป็นช่างเรียงหิน มารดามีอาชีพเป็นหมอตำแย โสคราตีสแต่งงานสองครั้ง ครั้งแรกกับมีร์โต ลูกสาวของอริสทีดีส มีอาชีพเป็นผู้พิพากษา ภรรยาคนแรกของโสคราตีสเสียชีวิตด้วยโรคระบาด โซคราตีสแต่งงานอีกครั้งกับซานทิปปี ตามกฏหมายของเอเธนส์ ผู้ชายมีหน้าที่ทางสังคมที่จะต้องเพิ่มพลเมืองให้กับรัฐ เมื่อมีอายุถึงวัยอันสมควร รัฐจะจัดหาสตรีที่เหมาะสมให้ สังคมกรีกโบราณเป็นสังคมที่วงจรชีวิตของมนุษย์ไม่ยืนยาว สงครามเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ผู้หญิงจะเสียชีวิตจากการคลอดบุตรและโรคภัยไข้เจ็บ การแต่งงานของโสคราตีสครั้งที่สอง อาจจะเกิดจากรัฐดำเนินการให้ โสคราตีสได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญในการรบ ในสงครามเปโลปอนนีเซียน เข้าประจัญบานที่สมรภูมิเดลิออนและแอ็มพิโปลิส โสคราตีสรับใช้รัฐด้วยความกล้าหาญ ยุติธรรมในฐานะประธานสภา และได้ช่วยชีวิตบรรดานายพล ที่ฝูงชนต้องการประหารชีวิตอย่างบ้าคลั่ง เขาเป็นทหารเดินเท้าในสงคราม ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายเงินเป็นค่าซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง สำหรับให้ทหารสวมใส่ในการรบ เช่นเครื่องกันหัวเข่า หอก หมวกที่สวมกันใบหน้า โสคราตีสมีร่างกายที่แข็งแรง มีความอดทนสูงต่อความยากลำบาก ในการไปสงครามในช่วงฤดูหนาว ทหารคนอื่นๆ ต่างปกป้องร่างกายอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันความหนาวเย็น ทำให้การเดินทัพล่าช้า แต่โสคราตีสกลับแต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น ในสายตาของทหารที่ร่วมรบ ซึ่งน่าประหลาดใจมากที่เขาทนกับความหนาวเย็นเหล่านั้นได้ แม้นการรบจะประสพความยากลำบากเพียงใด เขาก็ไม่เคยบ่น โสคราตีสมีเพื่อนฝูงมากมายต่างก็รักใคร่ชอบพอเขา โดยเฉพาะไครโต เล่ากันว่าโสคราตีสร่วมลงทุนทำการค้าเล็กน้อยกับไครโต และด้วยเงินที่โสคราตีสได้มาจากการธุรกิจร่วมกับไครโต และเงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้แก่ชาวเอธนส์ทุกคน ที่ทำหน้าที่พลเมืองในการรับใช้ชาติ ในการรับราชการเป็นทหาร เข้าร่วมในกิจการของรัฐ รวมกับมรดกตกทอดเล็กน้อย ด้วยนิสัยสมถะ ทำให้โสคราตีสสามารถใช้ชีวิตศึกษาปรัชญา โสคราตีสมักจะได้รับความช่วยจากบรรดาเพื่อนที่มีฐานะดีกว่า แต่โสคราตีสจะรับเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
โสคราตีสเรียกตัวเองว่า ตัวเหลือบ ที่ถุกส่งมาจากพระเจ้า เพื่อมาต่อยจิตใจของชาวเอเธนส์ หมายถึงกระตุ้นให้ค้นหาความจริง กระตุ้นให้เกิดการขบคิด เมโน ( Meno )เรียกโสคราตีสว่าตอร์ปีโด เพราะว่ามีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด มีฝีปากคม สามารถสร้างคำถามและโต้ตอบได้อย่างน่าอัศจรรย์ วิธีการที่โสคราตีสใช้คือ การสนทนา การสนทนาเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ โสคราตีสพบปะพูดคุยกับผู้คนบนท้องถนน เขาพูดคุยกับ ช่างฝีมือ รัฐบุรุษ ศิลปิน โซฟิสต์ โสคราตีสจะไปที่อโกรา ( Agora ) คือ ย่านที่ผู้คนมาพบปะพูดคุยกัน ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ เล่นกีฬาที่ ยิมเนเซีย ทำกิจกรรมร่วมกับชาวเอเธนส์ในกิจการของรัฐ โลกของกรีกเป็นโลกของผู้ชาย สังคมกรีกเป็นสังคมที่แตกต่างไปจากสังคมสมัยใหม่ ผู้ชายอาจมีภรรยาที่บ้าน และมีคู่รักเป็นชายในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าโสคราตีสเองก็มีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยชายหนุ่มที่มีความเฉลียวฉลาด ต้องการที่จะค้นหาความจริง และหลายคนก็มีความรักและนับถือโสคราตีสอย่างจริงใจ การสนทนาของโสคราตีสสร้างความสับสนให้เกิดแก่ผู้ร่วมสนทนา โสคราตีสจะขุด ค้นหาความจริงของทุกๆคำถาม อย่างถึงรากถึงโคน ของปัญหานั้น เพื่อสร้างความชัดเจน ด้วยวิธีนี้ทำให้คู่สนทนา เกิดความขัดแย้งต่อความรู้ของตนเอง ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกของการปกป้องตัวเองในผู้สนทนาจะเกิดขึ้น จุดนี้ทำให้โสคราตีสสร้างทั้งมิตรและศัตรู ผู้ที่ได้ค้นพบความจริงจากการสนทนากับโสคราตีสมีอยู่ แต่ผู้ที่มีความรู้สึกว่าเสียหน้า เพราะถูกโสคราตีสหักหน้าด้วยคำถามที่ทำให้จนมุม ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจน มาโต้ตอบกับโสคราตีส จะรู้สึกเกลียดชังโสคราตีสอย่างมาก โสคราตีสต้องการให้การศึกษาที่แท้จริงกับเด็กหนุ่ม เพราะบ้านเมืองต้องการ คนดี โสคราตีสยื่นมือมาทำหน้าที่นี้ โสคราตีสมีคำถามว่า พลเมืองดีกับคนดี ต้องเป็นคนคนเดียวกันหรือไม่ คำถามนี้ยังคงเป็นคำถาม ที่น่าขบคิดสำหรับผู้คนในสมัยปัจจุบัน
โสคราตีสต้องการให้คนแต่ละคนหันมาเอาใจใส่ กับจิตวิญญาณของตนเอง ไม่ใช่หันมาสะสมความมั่งคั่งทางวัตถุ โสคราตีสกล่าวไว้ในงานเรื่องอพอลโลจี โสคราตีสพูดกับปัจเจกชนเสมอ และเชื่อว่า รัฐไม่ว่าจะปกครองในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย อภิชนาธิปไตยหรือทรราชย์ การปรับปรุงรัฐไม่ใช่ทำได้จากการทำงานทางการเมือง แต่จะเกิดได้จากปัจเจกชนได้รับการศึกษาด้วยการเริ่มจากการรู้จักตนเอง มนุษย์ที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเป็นพลเมืองที่ดีได้
โสคราตีสเริ่มการค้นหาตนเอง จากความฉงนสนเทห์ในความหมายของข้อความ ที่ปรากฎอยู่ที่วิหารเดลฟี ที่ว่า จงรู้จักตนเอง ตลอดชีวิตของโสคราตีสเขาค้นหาสิ่งนี้
โสคราตีสมีเสียงเรียกจากภายใน ซึ่งเขาได้รับมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเสียงนี้มักจะห้ามไม่ให้เขาทำอะไร ไม่ออกคำสั่งให้ทำอะไร ในสงครามโสคราตีสช่วยเพื่อนทหารจากเสียงเรียกในจิตของเขา เมื่อ ต้องขึ้นแก้คดีในศาล โสคราตีสไม่เตรียมสุนทรพจน์ไว้แก้ต่าง เมื่อไครโตถามเขาถึงเรื่องนี้ โสคราตีสกลับตอบว่า ไม่มีเสียงเรียกให้เขาทำสิ่งนี้

2. Plato
โสคราตีสสอนอะไร? เพลโต เขียนงานทางปรัชญาหลายเรื่อง ที่มีโสคราตีสเป็นตัวละครเอก เป็นผู้นำการสนทนา ข้อเขียนของเพลโตให้หลักฐานบางส่วนต่อคำถามที่ว่า โสคราตีสสอนอะไร งานของเพลโตมีผู้เชื่อว่า งานในระยะแรกเป็นงาน ที่เพลโตยังคงรักษาแนวคิดของโสคราตีส แต่งานในระยะหลังจะเป็นแนวคิดของเพลโตเอง จากงานของเพลโต และนักคิดที่ได้กล่าวนามมาก่อนข้างต้น พอจะทำให้ทราบได้ว่า โสคราตีสทิ้งข้อความไม่กี่ประโยค ให้คนรุ่นหลังพยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดกับตนเอง ข้อความเหล่านั้นมีดังนี้
ไม่มีใครทำผิด โดยตั้งใจ ที่ทำผิดเพราะไม่รู้ ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่คุ้มค่าต่อการมีชีวิตอยู่ คุณธรรมคือความรู้ ( ความรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ถ้าเข้าใจจะปฎิบัติได้ถูกต้อง )
จะพบว่า แท้จริงแล้วโสคราตีส คือครูสอนจริยธรรมนั่นเอง การค้นหาความจริงด้วยการทำความเข้าใจ ให้เกิดแก่ตนเอง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง
ข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับแนวคิดของโสคราตีส ถ้าเพลโตเขียนบทสนทนาเกี่ยวกับโสคราตีสตรงกับข้อเท็จจริง จะพบแนวคิดที่น่าสนใจที่ว่า โสคราตีส มีแนวคิดว่า วิชาชีพไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่ การรู้จักตนเอง วิชาชีพคือการศึกษาเท็คนิค นอกเหนือจากการศึกษาวิชาชีพ คนแต่ละคนต้องให้ความสนใจกับจิตวิญญาณของตนเอง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่โสคราตีสเน้น
เพลโต ( Plato ) เกิดปี 428 ก่อนค.ศ เข้ารับราชการทหารตามวิถีชีวิต ของชายหนุ่มชาวกรีก เพลโตมีอายุ 18 ปี ในช่วงที่มีการตัดสินประหารชีวิตโสคราตีส ก่อตั้งอคาเดมี ในปี 367 ก่อนค.ศ เสียชีวิตในปี 346 ก่อนค.ศ ในช่วงวัยหนุ่มของเพลโตเป็นช่วงที่เอเธนส์ถึงจุดเสื่อม เพลโตเห็นความพ่ายแพ้ของเอเธนส์ต่อสปาต้า เพลโตมีแนวคิดที่ต่างไปจากเพื่อนร่วมนครรัฐที่ต้องการ จะฟื้นฟูเอเธนส์ขึ้นมาใหม่ แต่เพลโตคิดตรงข้าม เขาคิดว่า สิ่งเร่งด่วนที่ชาวกรีกต้องกระทำ ในขณะนั้น คือร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อปกป้องชาวกรีกทั้งมวล และนั่นหมายความว่า จิตใจของชาวกรีกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สมาพันธรัฐของกรีกรวมตัวกันได้อย่างจริงจัง งานทางปรัชญาของเพลโตอธิบายแนวคิด ทางสังคมและการเมือง บนการวิเคราะห์ลึกลงไปที่คุณสมบัติพื้นฐานของจิตใจมนุษย์ การวิเคราะห์ของเพลโตกระตุ้นให้มนุษย์ หันมาสนใจศึกษากระบวนการทางจิตวิญญานของตนเอง แนวคิดนี้มีความเป็นจริง และปูพื้นฐานให้กับการศึกษาจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ ในสมัยต่อมา ลักษณะของรัฐสะท้อนลักษณะโดยรวมของประชาชน
เพลโตมีแนวคิดว่าสังคมของชาวเอเธนส์มีจุดอ่อนอยู่ 3 ประการ คือ ต่อสู้กันเองระหว่างกลุ่มต่างๆ สอง มีรัฐบาลที่ไม่ดี และสาม มีการศึกษาที่ไม่ดีพอ การต่อสู้ของชนกลุ่มต่างๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มของตน การปกครองแบบประชาธิปไตยเอเธนส์ เพลโตวิจารณ์ว่า เป็นการปกครองของฝูงชน เสียงของคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เสียงสวรรค์ เสียงของคนส่วนใหญ่ ไม่ใด้นำมาซึ่งความคิดเห็นที่ถูกต้องเสมอไป บ่อยครั้งที่นำไปสู่หายนะภัย การชี้นำที่ถูกต้อง จะต้องมีเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง การปกครองที่ดีต้องมีสติปัญญาชี้นำ แนวคิดของเพลโตปรากฏในเรื่อง Republic กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำ การศึกษาแบบเท่าเทียมกัน กลายมาเป็นอุปสรรคในทัศนะของเพลโต ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ที่มีความสามารถเด่นเป็นพิเศษจะไม่ได้รับการสนับสนุน มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งไม่ถูกต้องในทัศนะของเพลโต เพลโตชื่นชมการใช้ชีวิต วิถีสังคมและการเมืองของชาวสปาต้า มากกว่านครรัฐเอเธนส์ ที่เป็นบ้านเกิด ครอสมันด์ ( Crossman ) มีเหตุผลให้กับความรู้สึกนี้ของเพลโต ประการแรก สปาต้าเป็นนครรัฐ ที่มีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองได้ ทำการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งต่างจากเอเธนส์ที่ต้องพึ่งพา ผลผลิดทางการเกษตรจากต่างชาติ สปาต้าไม่มีความคิด ในเรื่องการเป็น มหาอำนาจ ผู้นำนครรัฐกรีกอื่นๆ เช่นเอเธนส์ เอเนส์ใช้เงินจำนวนมหาศาลไปกับการสร้างวิหาร ใฝ่ในศิลปวิทยาการ เพื่อมุ่งหวังที่จะเป็น แม่แบบของนครรัฐทั้งหลาย เอเธนส์สร้างกองทัพเรือเพื่อป้องกันตนเอง และคุ้มครองเส้นทางการเดินเรือสินค้าของตน ประการที่สอง ผู้นำของสปาต้าถูกอบรมมาเพื่อเป็นผู้นำ ผู้นำไม่ได้รับอนุญาติให้มีทรัพย์สินส่วนตัว หรือมีความเป็นอยู่ที่ร่ำรวย ประการสุดท้าย การศึกษาไม่ได้เปิดเสรีแบบเอเธนส์ มีการคุมเข้มโดยรัฐ และสปาต้าไม่ยินยอมให้สิ่งที่ผู้นำพิจารณาว่า จะนำมาซึ่งความเสื่อมของสังคม เข้ามาเผยแพร่ในรัฐ เช่นเดียวกับที่เอเธนส์เป็นในขณะนั้น การศึกษาของสปาต้ามีความเข้มงวดและส่งเสริมคนมีความสามารถ จึงสามารถที่จะฝึกฝนให้เก่งเฉพาะด้านได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพลโตไม่ได้คิดว่า รัฐแบบสปาต้าจะมีการปกครองที่ดีเลิศ เพียงแต่ดีกว่าเอเธนส์ในหลายแง่มุม ยกตัวอย่างเช่น พวกทาสของสปาต้ามีเหตุผลที่จะก่อการขบถ แต่เจ้าของกิจการในเอเธนส์ ไม่มีเหตุผลที่จะใช้แรงงานจากทาส มากกว่าจากเสรีชน( Crossman,
การตายของโสคราตีส มีผลกระทบทางใจ เกิดกับเพลโตอย่างมาก เพลโตไม่สามารถอยู่ที่เอเธนส์ได้ เขาออกเดินทางไปต่างถิ่นเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเพื่อให้ลืมความขมขื่นที่ความอยุติธรรมของสังคม มอบให้กับโสคราตีส เพลโตได้เรียนรู้ว่า การพูดคุยกับผู้คนแบบที่โสคราตีสทำไม่ปลอดภัย เขาจึงหันมาตั้งสถานศึกษา และทำการสอนวิทยาการต่างๆ มีลักษณะของวิชาที่ใกล้เคียงกับวิชาการ ที่ทำการสอนกันในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน คือ สอนทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ดนตรีและศิลป แนวคิดของโสเครตีส ที่มีอิทธิพลต่อเพลโต คือ แนวคิดในเรื่อง มโนคติที่สมบูรณ์ ที่รู้จักกันดีว่าแบบ เหตุผลเท่านั้นที่จะนำทางไปสู่ความเข้าใจในเรื่องนี้ จิตที่ถูกนำทางด้วยเหตุผล จะเผยให้เกิดการรับรู้และเข้าใจ ถึง ความจริง ความดีและความงามของสรรพสิ่ง การค้นหาเป็นเรื่องของการปฎิบัติ ที่เกิดจากจิตใจที่แสวงหาคำตอบ ในระดับต่างๆของแต่ละคน เพลโตเห็นคุณค่าของการศึกษาคณิตศาสตร์ ว่าสามารถทำให้เกิดสติปัญญาที่จะเข้าใจ ความจริงในระดับลึก คือความคิดเชิงนามธรรม ที่ไปพ้นจากความจริงระดับตรรก ในอคาเดมีของเพลโต เพลโตสอนศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่ ความเข้าใจในโลกแห่งมโนคติ เพลโตมั่นใจว่า มีเพียงผู้ที่เข้าใจเท่านั้น ที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ
เพลโตเป็นนักปรัชญาที่มีงานเขียนตกทอดมาถึงคนในยุคปัจจุบัน ให้ได้เรียนรู้ อยู่มาก พอสมควร ในงานเขียนของเพลโตจะพบแนวคิดที่หลากหลาย แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ ปรากฎอยู่ในงานของเพลโต เช่นแนวคิดของเฮราคลีตุส ( Heraclitus ) เรื่อง “ Eternal Flux” แนวคิดของพาร์มีนีดีส ( Parmenides ) “ Being and Non-Being” เพลโตสนใจงานทางคณิตศาสตร์ และไปศึกษางานทางคณิตศาสตร์อยู่ระยะหนึ่งที่ซิซีลี งานเขียนในระยะสุดท้ายของเพลโตเรื่องฟีเลบัส ( Philebus ) เพลโตกล่าวถึงการศึกษาตัวเลข ว่าจะช่วยความเข้าใจในเรื่องแบบได้
งานเขียนของเพลโตใช้สไตล์ ที่แปลกไปจากสไตล์ของงานเขียน ที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้นเพลโตเขียนงานทางปรัชญาในรูปของไดอะลอค ( Dialogue ) หรือบทสนทนา การสนทนาสร้างเงื่อนไข ของการค้นหาความจริง สไตล์การเขียนไม่นับว่าเป็นงานที่อยู่ในระดับดี สำหรับการตัดสินผลงานเขียนในสมัยนั้น มีผู้วิจารณ์ว่าเพลโตไม่ได้เขียนงานขึ้นเอง เขาเพียงแต่รายงานสิ่งที่เขาได้ยินได้เห็นเท่านั้น แต่สำหรับผู้ศึกษาปรัชญาก็ยังไม่ได้เปลี่ยนท่าที หันมายอมรับงานเขียนเหล่านั้นว่า ไม่ใช่งานของเพลโต แม้ว่าจะมีผู้วิจารณ์อย่างไรก็ตาม คุณค่าที่สำคัญในงานเขียนของเพลโต คือทำให้เราทราบว่า โสคราตีสมีแนวคิดอย่างไร และใช้วิธีการใดนำเสนอแนวคิด และค้นหาคำตอบของความสงสัยของเขาอย่างไร การอ่านงานของเพลโต ให้ความรู้สึกเหมือนชมวีดิทัศน์ ในสมัยปัจจุบัน ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างภาพ ทำความรู้จักกับโสคราตีสได้เป็นอย่างดี เราทราบจากงานของนักคิดร่วมสมัยกับเพลโตหลายท่านเกี่ยวกับโสคราตีส แต่ไดอะลอคของเพลโตมีแง่มุมของปรัชญา มากกว่างานของนักคิดเหล่านั้น วิธีการค้นหาคำตอบ ของ สิ่งนี้คืออะไร ของโสคราตีส เพลโตใช้คำว่า ไดอะเลคติค (Dialectic ) ซึ่งต่างจากนักคิดกลุ่มโซฟิสต์ ที่เพลโตใช้คำว่า อีรีสติค ( Eristic ) ที่หมายถึง ความขัดแย้ง ( Controversy ) เพลโตเองคงจะมองเห็นว่าวิธีการนี้ เหมาะสมดี ในการนำมาใช้ในการค้นหาคำตอบของคำถามต่าง ๆ ที่สงสัย ไม่แน่ใจให้มีคำตอบ ไดอะเลคติคเป็นเทคนิคที่เพลโตนำเสนอ ในงานเขียนทั้งหมดของเขา โดยมีตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริง ในช่วงเวลานั้น ตัวละครมีวัยที่แตกต่างกันออกไป โสคราตีสเป็นคนดำเนินเรื่อง ชื่อเรื่อง หลายเรื่องตั้งตามชื่อของคู่สนทนาของโสคราตีส เรื่องจบลงที่การค้นหาดำเนินต่อไปในตัวผู้อ่าน เพราะโสคราตีสเองไม่ได้ให้คำตอบอะไรที่ชัดเจน งานที่เพลโตเขียน ได้จัดแยก ไว้ 3 ช่วงดังนี้
งานเขียนช่วงแรก - Charmides, Larch , Lysis, Protagoras, Gorgias, Meno,
Euthyphro, Apology, Crito, Cratylus
งานเขียนช่วงกลาง - Phado, Symposium, Phaedrus, Republic, Timaeus
งานเขียนช่วงหลัง - Parmenides, Theaetetus, Sophist, Statesman, Philebus, Laws
งานเขียนที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นงานเขียนในระยะต้นและระยะกลางของเพลโต ผลงาน เรื่อง Republic เป็นที่รู้จัก กันแพร่หลาย เป็นงานที่มีชื่อเสียงของเพลโต คุณค่าของงานชิ้นนี้คือ จุดประกาย แนวคิดทางการเมืองและสังคม ในสมัยต่อมา เกิดภาพของสังคมในอุดมคติ ที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ ไม่คอร์รับชั่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ทหารไม่ทำร้ายประชาชน แต่จะปกป้อง เหมือนสุนัขที่รักเจ้าของแต่ชิงชังศัตรู รัฐพึ่งตนเองได้ เพราะประชาชนทำงาน ตาม คุณสมบัติของจิตวิญญาณ นั่นคือทำงานที่ตนเองถนัด ประชาชนไม่มีทรัพย์สินของตนเอง ทรัพย์สินเป็นของส่วนกลางรวมถึง บุตรธิดา เพลโตนำเสนอ การปกครองแบบสังคมนิยม คำศัพท์สมัยใหม่ ที่ความหมายเข้าใจกันเป็นอย่างดี งานที่เสนอในรูปแบบของรัฐในอุดมคติและสังคมนิยม ในสมัยหลังอีกหลายร้อยปี มีงานของ โทมัส มอร์ ( Thomas More ) เรื่องยูโทเปีย ( Utopia ) งานของคารล์ มากซร์ ( Karl Marx ) เรื่อง แคปปิตาลิสม์ ( Capitalism ) งานของ ชูเมกเกอร์ เรื่อง ‘Small is Beautiful “ เละอัลดอกซ์ ฮักซเลอร์ ( Aldoux Huxley ) เรื่อง “ The Brave New World “
เพลโตเน้นมากว่า ผู้นำต้องมีสติปัญญาที่เหนือกว่า พลเมืองโดยทั่วไป และต้องผ่านการฝึกฝน เพลโตกล่าวเปรียบเทียบ ไว้ในรีพับลิค เรื่อง ความเป็นไปในถ้ำมืด ( The Analogy of the Cave ) ผู้นำคือผู้ต้องเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่ง และกลับมาปลดปล่อยผู้ที่ถูกพันธนาการด้วยความไม่รู้ทั้งหลาย พวกนักโทษที่อยู่ในถ้ำ หลงเข้าใจผิดว่าสิ่งที่พบเจอ คือของจริง จุดนี้เพลโตกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง ความรู้ ( Episteme ) และความเชื่อ ( Doxa ) อิทธิพลของการสืบค้นเข้าสู่ความไม่รู้ของตนเอง เพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระของโสคราตีส มีอิทธิพลต่องานของเพลโต ช่วยให้เพลโตเกิดความกระจ่างชัด กล้ายืนยันแนวคิดทางจริยธรรม เรื่องแบบของความดี ที่สูงส่งกว่าแบบอื่นๆทั้งหลาย แนวคิดนี้สนับสนุนสิ่งที่โสคราตีสเชื่อมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำให้เป็นระบบความคิดขึ้นมาได้ แนวคิดของโซฟิสต์ถูกหักล้างด้วย แบบแห่งความดีของเพลโต ที่สติปัญญาจะนำทางให้มนุษย์เข้าใจแบบนี้ได้ ถ้าค้นพบและเข้าใจ จะไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ของความคิดเห็นทั้งสิ้น ทฤษฎีแบบของเพลโต มีความคิดของปรัชญาตะวันออกเข้าไปผสมอยู่มาก เพราะเพลโตมีความเข้าใจว่า โลกแห่งประสาทสัมผัส ไม่ใช่ความจริง เป็นโลกที่เปลี่ยนแปลง มนุษย์ไม่ควรที่จะติดอยู่ในโลก แห่งมายาที่ดูเหมือนจริงแห่งนี้ มนุษย์ควรจะใช้เหตุผลพัฒนาตนเอง เพื่อเข้าถึงความเป็นจริง เช่นเดียวกับที่นักโทษคนหนึ่งสามารถที่หลุดพ้นพันธนาการ และออกมาพบกับแสงสว่างและความงามของสรรพสิ่ง นอกถ้ำ เมื่อมนุษย์เข้าถึงความแท้จริง การปฎิบัติจะเป็นไปอย่างถูกต้อง
โสคราตีสเสนอวิธีการที่ดี เขาอาจเข้าถึงความจริง แต่ไม่ได้อธิบายด้วยถ้อยคำมากมาย อาจเป็นไปได้ว่าโสคราตีสไม่มีความรู้สูง ไม่สามารถใช้ภาษาเขียนได้ดี แต่มีความสามารถพิเศษในการสร้าง ความสงสัย ให้เกิดในบุคคลอื่น และยอมรับความไม่รู้ของตนเอง มีพลังแห่งการค้นหา เพื่อปลดปล่อยตนเองจากความไม่รู้ เพลโตทำงานต่อจากที่โสคราตีสทิ้งค้างไว้ ให้ความหมายและอธิบายเพิ่มเติม เพลโตไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อในสิ่งที่เขานำเสนอ ผู้ที่ศึกษางานที่ หลงเหลืออยู่ของเพลโตจะต้องทำงาน คือ ค้นหาความจริงนี้ต่อไป เอ เอ็น ไวท์เฮด ( A.N.Whithead )ได้กล่าวยกย่องเพลโตไว้ว่า แนวคิดของปรัชญาตะวันตกทั้งหมด เป็นเพียงแค่ฟูตโน็ต ในปรัชญาของเพลโตเท่านั้น

3. Aristotle
อริสโตเติล ( Aristotle ) เกิดประมาณปี 384 ก่อนค.ศ ที่เมืองสตากีรา ( Stagira ) รัฐเทรซ (Thrace) บิดาเป็นแพทย์ประจำราชสำนักของกษัตริย์แห่งมาซีโดเนีย มาเอเธนส์เมื่ออายุ18 ปี เป็นลูกศิษย์ของเพลโต เรียนที่อคาเดมี ออกจากอคาเดมีเมื่อเพลโตเสียชีวิตในปี 346 ก่อนค.ศ อริสโตเติลเป็นติวเตอร์ให้กับเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ภายหลังคืออเล็กซานเดอร์มหาราช ในขณะที่มีอายุประมาณ 17 ปี มีข้อขัดแย้งของแนวคิดของนักปรัชญาในสมัยหลังถึง อิทธิพลของปรัชญาที่มีต่ออเล็กซานเดอร์ เฮเกลเชื่อว่า แนวคำสอนของอริสโตเติล ต้องมีอิทธิพลต่อวิธีคิด ในการปกครองของกษัตริย์หนุ่ม รัสเซลมีแนวคิดที่ตรงกันข้าม ไม่คิดว่าอริสโตเติลจะมีบทบาทต่ออเล็กซานเดอร์ แต่อย่างใด และอเล็กซานเดอร์ไม่น่าจะเข้าใจ หลักการทองคำแห่งวิถี ของอริสโตเติล อริสโตเติลสอนเรื่องการเดินสายกลาง ที่ไม่ตึง ไปในด้านใดด้านหนึ่ง แต่อุปนิสัยของเอ็กซานเดอร์ตรงกันข้าม และในทัศนะของรัสเซล อเล็กซานเดอร์ ไม่ใช่คนปราดเปรื่อง และยังดื้อรั้นอีกต่างหาก เมื่ออเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ ชาวเอเธนส์ก่อการขบถต่อมาซีโดเนีย อริสโตเติลในฐานะพระอาจารย์เก่าต้องหลบหนีจากเอเธนส์ และเสียชีวิตในปี 322 ก่อนคศ
อริสโตเติลมีแนวคิดที่เป็นระบบ ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เป็นทั้งนักอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ภายหลังการตายของอริสโตเติลหลายร้อยปี จึงเกิดนักปรัชญาขึ้นทำเนียบที่สามารถเทียบเคียง ความยิ่งใหญ่ของอริสโตเติลได้ อริสโตเติลมีผลงานหลากหลาย มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับตรรกวิทยา จริยศาสตร์และการเมือง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ จุดเด่นของงานอยู่ที่ผลงานทางตรรกวิทยา จริยศาสตร์และการเมือง ความสามารถของอริสโตเติลเทียบเท่าศาสตราจารย์ ระดับโนเบิลไพรซ์.ในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน งานเขียนมีคำอธิบายอย่างละเอียดละออ ช่วงของความคิดมีการอธิบายเชิงวิเคราะห์ มีการให้ข้อมูลและ ช่วงเวลา บางครั้งมีเรื่องแทรกเพิ่มเติม มีตัวอย่างของคำอธิบาย การนำเสนออยู่ในรูปแบบเดียวกับ การนำเสนองานเชิงวิชาการในปัจจุบัน อริสโตเติลมีงานเขียนที่ชัดเจน เข้าใจได้ ในที่นี้จะยกตัวอย่างแนวคิดทางจริยศาสตร์และการเมือง เพื่อให้ทราบว่าอริสโตเติลมีแนวคิดอย่างไรบ้าง
งานทางจริยศาสตร์ของอริสโตเติลต่างจากเพลโต อริสโตเติลกล่าวถึงชีวิตที่เข้าใจได้ ความดีที่มนุษย์ปฏิบัติได้ อริสโตเติลมีมุมมองเกี่ยวกับพฤติกรรม ของมนุษย์ที่น่าสนใจยิ่ง เขาเข้าใจดีว่าสิ่งที่คนในสังคมต้องการมากที่สุดคืออะไร ดังนั้นหลักแห่งการปฏิบัติ จึงไม่ใช่สิ่งซับซ้อนที่ต้องค้นหา อริสโตเติลมองเห็นว่ามนุษย์ใฝ่หาสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ดีมีอยู่มากมาย ไม่ใช่มีอยู่หนึ่งเดียว ที่สำคัญคือเข้าถึงได้ในชีวิตของคนทุกคน การกระทำเป็นเรื่อง สำคัญยิ่งที่จะพาให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมาย ชีวิตที่ดีคืออะไร อริสโตเติลมีคำอธิบายว่า หมายถึงการกินดีอยุ่ดี หรือที่ในภาษาสมัยใหม่หมายถึง คุณภาพชีวิต ไม่ได้หมายเฉพาะ ความต้องการทางด้านร่างกายอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงคุณภาพด้านอื่นๆของชีวิต รวมถึงคุณภาพด้านจิตใจ ในหนังสือเรื่อง Nichmachean Ethics กล่าวถึงชีวิตที่มีความสงบ เป็นชีวิตที่มีการกระทำที่มีคุณธรรม มีศีลธรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชีวิตที่ดีต้องมีส่วนผสมของการใช้เหตุผล นำการกระทำ อริสโตเติล เข้าใจ และเห็นความยากลำบากของการต่อสู้ ระหว่างความต้องการ รวมถึงเข้าใจความรู้สึกต่างๆของมนุษย์ เพื่อสร้างความกลมกลืนให้เกิด สติปัญญาจึงมีความสำคัญ สิ่งที่น่าสนใจมากในจริยศาสตร์ของอริสโตเติลก็คือ ความเข้าใจของเขา ที่เห็นว่าการกระทำของมนุษย์มีสิ่งแวดล้อม และสังคมเป็นตัวกำหนด สติปัญญาจะใช้เป็นเครื่องมือ ที่จะแยกแยะเพื่อนำมนุษย์ไปสู่วิถีทาง ที่จะมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ดีงาม ทัศนะทางการเมืองของอริสโตเติลได้รับการยอมรับและยกย่อง งานที่มีชื่อเสียงคือ Politics โลกของกรีกโบราณบ่มเพาะทัศนคติ วิถีชีวิต และแนวทางการเมืองที่มีรูปแบบการปกครองที่หลากหลาย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมาก หนังสือเล่มนี้จัดได้ว่าเป็นหนังสือวิเคราะห์ และนำเสนอข้อคิดเห็น ทางการเมืองและการปกครองเอาไว้เป็นเล่มแรกๆของโลก หลายประเด็นของข้อเสนอแนะ มีความทันสมัย อริสโตเติลเสนอว่า กฏหมายเป็นสิ่งจำเป็นในรัฐ เพื่อควบคุมมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ที่ป่าเถื่อนและดุร้าย และป้องกันมิให้มนุษย์ทำความชั่วร้าย รัฐมีขึ้นเพื่อสร้างชีวิตที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้า หรือป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรม จุดประสงค์ที่รัฐมีขึ้น เพื่อเป้าหมายที่ทรงคุณค่าและสูงล่ง อริสโตเติลเหมือนชาวกรีกทั่วๆไป ที่มีความลำเอียงเห็นว่าเผ่าพันธ์ของตนเอง ดีกว่าเผ่าพันธ์อื่นๆ การวางรากฐานทางการศึกษาบังคับเฉพาะในชาวกรีกเท่านั้น การศึกษาเพื่อสร้างคุณธรรม เพื่อนำคุณธรรม นั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต การศึกษาของพลเมืองต้องแตกต่างไปจากทาส พลเมืองต้องเรียนรู้ทฤษฏีทางการเมือง ต้องมีส่วนในการปกครอง รัฐจะต้องจัดให้ราษฎร์มีเวลาว่าง และใช้เวลาว่างนั้นไปอย่างมีประโยชน์ อริสโตเติลเชื่อว่า ชาวกรีกมีทั้งสติปัญญาและคุณสมบัติทางจิตใจ การสอนเรื่องทักษะต่างๆ สอนให้กับทาส กีฬาเล่นเพื่อให้พลานามัยดี แต่ไม่ใช่แบบหักโหม และก่อให้เกิดผลเสีย แก่การเจริญเติบโตของร่างกายในภายหลัง ชาวกรีกจะต้องไม่เป็นทาส มีแต่เผ่าพันธ์อึ่นที่มีความเจริญน้อยกว่าเท่านั้น ที่เหมาะสมที่จะเป็นทาส พวกทาสจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับงานช่างฝีมือ รัฐที่ดีต้องพึ่งพาตนเองได้ พึ่งผลิดผลของตนเองและทำการค้ากับต่างชาติ
อริสโตเติลวิจารณ์งานทางการเมืองของเพลโต ในเรื่อง Republic ไว้ใน ประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนรวม อริสโตเติลไม่เห็นด้วยที่จะให้ บุตรเป็นของส่วนรวม เพราะจะไม่มีใครดูแลอย่างจริงจัง เด็กๆจะถูกปล่อยปละละเลย ความคิดเห็นของอริสโตเติล มีข้อพิสูจน์ที่พบเห็นกันอยู่ในสังคมปัจจุบัน เพราะไม่มีใครดูแลของส่วนรวม อริสโตเติลมีงานเขียนที่เป็นแบบอย่างที่ดี ให้แก่นักคิดในสมัยต่อมาได้ถือเป็นแบบอย่าง และอิทธิพลของปรัชญากรีกโบราณ ได้สืบทอดแนวคิด และพัฒนา มีความเจริญก้าวหน้า ในอาณาจักรโรมันและโลกอาหรับ

ทฤษฎีของ Plato เรื่องสิ่งสากล

การที่จะเข้าใจว่าเพลโตขบคิดปัญหาเรื่องอะไร และทำไมจึงให้คำตอบเช่นนั้น จำเป็นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า Socrates มีทรรศนะเช่นไร เพราะปรัชญาของเพลโตเป็นการคิดต่อจากที่โสเครตีสคิดไว้ เมื่อตอนที่เราอ่านบทสนทนาเรื่อง Euthyphro คงจะจำได้ว่า โสเครตีสถามปัญหาว่า piety คืออะไร และเมื่อยูไทโฟรตอบโดยแจกแจงว่า การกระทำเช่นไรบ้างที่ pious โสเครตีสก็แย้งว่าไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ กล่าวคือเมื่อถามปัญหาว่า "ค คืออะไร" คำตอบที่โสเครตีสต้องการคือคำนิยามของ ค เช่น "ค มีลักษณะ xyz" คำนิยามนี้สำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจว่าการกระทำทั้งหลายที่มีคุณสมบัติ ค นั้นมีลักษณะเช่นไรแล้ว ยังจะทำให้เราตัดสินได้ว่า ถ้าคนผู้หนึ่งอ้างว่าการกระทำของตนมีคุณสมบัติ ค นั้น (เช่นกรณีที่ยูไทโฟรกล่าวว่าการที่ตนนำบิดาของตนขึ้นฟ้องศาลเป็นการกระทำที่ pious) เป็นความจริงหรือไม่ เช่นถ้า ค มีลักษณะสามประการคือ x y และ z และถ้าการกระทำนั้นไม่มีลักษณะทั้งสาม เราก็ตัดสินได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีคุณสมบัติ ค เหตุที่โสเครตีสไม่ยอมรับคำตอบของยูไทโฟรก็เพราะไม่ได้ตอบว่า ค มีลักษณะอะไรบ้าง บอกแต่ว่าการกระทำใดบ้างมีคุณสมบัติ ค
สิ่งที่โสเครตีสทำมิใช่จะไร้สาระ ตัวเขาสนใจเรื่องคุณธรรม และต้องการแสวงหาความรู้ว่าคุณธรรมคืออะไร คำถามที่โสเครตีสถามก็อย่างเช่น ความกล้าหาญ ความยุติธรรม คืออะไร โสเครตีสเชื่อว่าถ้าเราไม่สามารถหาคำนิยามของคุณธรรมเหล่านี้ได้ เราก็จะไม่สามารถมีความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมได้ และการตัดสินว่าการกระทำหนึ่งมีความยุติธรรม หรือกล้าหาญ ฯลฯ หรือไม่ ย่อมปราศจากหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ
เพลโตรับทรรศนะของโสเครตีสมา และได้พัฒนาต่อไปอีก เพลโตมิได้เชื่อแค่ว่า คำว่า กล้าหาญ ยุติธรรม ฯลฯ จะต้องมีคำนิยามที่สามารถสืบหาได้เท่านั้น แต่ยังเชื่อด้วยว่า คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่จริงต่างหากจากสิ่งที่กล้าหาญ สิ่งที่ยุติธรรม ฯลฯ เพลโตหมายความว่าอย่างไรที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง การที่จะเข้าใจต้องเทียบกับทรรศนะที่ตรงกันข้าม เราอาจบอกว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นเพียงชื่อ เมื่อเราเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มีสีขาว ซึ่งสีขาวในสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกันทีเดียว บางอันขาวมาก บางอันขาวน้อย แต่มีความคล้ายคลึงกันพอที่จะจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกันได้ เราก็รวมไว้ในประเภทเดียวกันและให้ชื่อว่า ความขาว ตามทรรศนะเช่นนี้ ความขาว ความกล้าหาญ ฯลฯ เป็นเพียงชื่อ สิ่งที่มีอยู่จริงคือสิ่งต่าง ๆ และสีขาวอันหลากหลายที่ไม่เหมือนกันในแต่ละสิ่งที่มีสีขาว ทรรศนะของเพลโตที่ตรงข้ามกับทรรศนะเช่นนี้ก็คือ ความขาวมิได้เป็นแต่เพียงชื่อ แต่มีอยู่จริงต่างหากจากสีขาวหลายหลากชนิดที่เราพบในสิ่งทั้งหลาย
ถ้าความขาว ความกล้าหาญ ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ก็จะมีอยู่ในฐานะที่เป็นนามธรรม มิอาจสัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้าของเรา แต่สามารถรู้ได้ด้วยเหตุผล (ดูในบทสนทนา Phaedo ที่แจกพร้อมกับ Meno) ในวงการปรัชญาเรียกสิ่งที่มีอยู่อย่างเป็นนามธรรมนี้ว่า abstract entities คุณสมบัติเช่น ความขาว ความยุติธรรม เป็นเพียง abstract entities ประเภทหนึ่ง ประเภทอื่นก็อย่างเช่น คน เสือ ช้าง ดาวฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นประเภทที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการจัดแบ่งสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาล และจำนวนเช่น หนึ่ง สอง ก็จัดเป็น abstract entities อีกประเภทหนึ่ง สิ่งที่ถกเถียงกันในวงการปรัชญาก็คือ abstract entities มีหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงชื่อ
เพลโตสนใจ abstract entities ประเภทที่เป็นคุณสมบัติมากกว่าอย่างอื่น คำถามก็คือเหตุใดเพลโตจึงคิดว่าคุณสมบัติมีอยู่จริง ปัญหาที่นำเขามาสู่เรื่องนี้ก็คือปัญหาที่เรียกกันว่า ความเป็นหนึ่งในท่ามกลางความหลายหลาก ของหลายอย่างมีสีขาว และสีขาวที่มีก็แตกต่างกันไป ขาวมาก ขาวน้อย หรือเกือบจะเป็นสีเหลือง แต่กระนั้นเรามีคำเพียงคำเดียวเพื่อใช้เรียกสีนี้ เราจะอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร การกล่าวว่าสีขาวเป็นเพียงชื่อใช้เรียกสิ่งที่คล้ายกันยังไม่เป็นคำตอบที่น่าพอใจ เพราะเราสามารถถามได้ว่า คล้ายกันในแง่ใด คำตอบหนีไม่พ้นที่จะอ้างถึงสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว การบอกว่าความขาวเป็นเพียงชื่อเป็นการปฏิเสธความเป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อเราไม่อาจเลี่ยงการกล่าวถึงความเป็นหนึ่งเดียวนี้ได้ ก็ควรจะยอมรับว่าสิ่งนี้มีอยู่ การบอกว่าความเป็นหนึ่งเดียวคือมีชื่อเดียวไม่อาจทำให้เพลโตพอใจได้ เพราะถามได้ว่าชื่อนี้เป็นชื่อของอะไร
กล่าวโดยสังเขป เพลโตอ้างว่าเราต้องเชื่อว่าคุณสมบัติมีอยู่จริงเพราะเป็นวิธีเดียวที่น่าพอใจในการอธิบายเรื่องความเป็นหนึ่งในความหลายหลาก หลักเกณฑ์ที่อยู่เบื้องหลังการอ้างเช่นนี้ก็คือ ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ หากเราไม่สามารถเลี่ยงที่จะอ้างถึงสิ่งหนึ่งได้ สิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง การมีอยู่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสที่เรามี วิทยาศาสตร์เองอ้างถึงหลายสิ่งว่ามีอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่อาจสัมผัสได้ ไม่ว่าจะด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์หรือเครื่องมือ
คุณสมบัติที่เพลโตเชื่อว่ามีอยู่จริงเรียกกันในวงการปรัชญาว่า Universal (สิ่งสากล) ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะปรากฏอยู่ทั่วไปใน particular (สิ่งเฉพาะ) กล่าวคือ ความขาวปรากฏอยู่ทั่วไปในสิ่งที่มีสีขาว ในบทสนทนาของเพลโตที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คำเรียกสิ่งสากลว่า Form หรือ Idea ทฤษฎีของเพลโตจึงรู้จักกันในนามของ Theory of Forms หรือ Theory of Ideas

ทรรศนะของอริสโตเติ้ลเรื่องจริยศาสตร์คุณธรรม

เมื่อกล่าวถึงปรัชญากรีกสมัยโบราณ นักปรัชญากรีกในสมัยนั้นได้พยายามที่จะให้คำตอบต่อคำถามที่ว่า "ชีวิตที่ดีสำหรับมนุษย์คือชีวิตแบบใด" และ "มนุษย์ควรดำเนินชีวิตอย่างไร" สำหรับคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ โสคราตีสและเพลโต้มีความเชื่อว่าคุณธรรมคือตัวนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีและการประพฤติที่ถูกต้อง โสคราตีสและเพลโต้เชื่อว่าถ้าบุคคลรู้ว่าชีวิตที่ดีคืออะไร มนุษย์จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด ทรรศนะดังกล่าวนี้เชื่อว่าการกระทำผิดเกิดจากการขาดความรู้ ถ้ามนุษย์สามารถรู้ว่าอะไรคือความถูกต้อง เขาจะไม่กระทำความผิด (Stroll and Popkink, 1993: 3) ดังนั้นการสอนให้คนรู้จักคิดหรือคิดเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำไปสู่ความเป็นผู้มีคุณธรรม ในสมัยกรีกโบราณ คุณธรรมหลักที่ถือว่าเป็นคุณธรรมพื้นฐาน 4 ประการ คือ ความยุติธรรม (justice) ความรอบคอบ (prudence) ความกล้าหาญอดทน (fortitude) ความรู้จักประมาณ (temperance) คุณธรรมเหล่านี้เป็นตัวนำให้บุคคลมีชีวิตที่ดีและมีการกระทำที่ถูกต้อง
อริสโตเติ้ลศิษย์ของเพลโต้และเป็นนักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่งในยุครุ่งเรืองของปรัชญากรีก อธิบายเรื่องชีวิตมนุษย์และคุณธรรมไว้ในผลงานสำคัญชื่อ Nicomachean Ethics มีสาระสำคัญมุ่งเน้นที่คุณลักษณะของตัวบุคคล การตัดสินใจเลือกการกระทำมากกว่าที่จะเน้นเรื่องของความรู้หลักคุณธรรมเพียงอย่างเดียว หมายความว่า การที่บุคคลจะเป็นผู้มีคุณธรรมได้ไม่ได้หมายถึงการที่บุคคลนั้นมีความรู้เรื่องของคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญ ความยุติธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติตามหลักการนั้นอย่างมั่นคง สำหรับอริสโตเติ้ลแล้ว ถือว่าการที่บุคคลมีความรู้เรื่องความกล้าหาญ ความยุติธรรมแล้วสามารถตัดสินใจเลือกปฏิบัติได้โดยใช้เหตุผลเป็นพื้นฐานอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ เวลา และตัวบุคคล บุคคลเช่นนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรม หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า อริสโตเติ้ลเน้นลักษณะที่แสดงออกถึงคุณธรรมมากกว่าการมีความรู้เรื่องคุณธรรม เพราะบางคนรู้ว่าคุณธรรมคืออะไรแต่ก็อาจไม่ปฏิบัติตามนั้น ตามทรรศนะของอริสโตเติ้ลผู้มีคุณธรรมจะต้องเป็นผู้ที่มีการกระทำที่แสดงออกถึงลักษณะของคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญ ความรู้จักประมาณ ความเป็นผู้มีปัญญา ความยุติธรรม อย่างสม่ำเสมอ ความคิดดังกล่าวของอริสโตเติ้ลได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจริยศาสตร์คุณธรรม (Virtue Ethics) ที่เน้นคุณลักษณะนิสัยทางศีลธรรมที่แสดงออกในการดำเนินชีวิตของบุคคล (Edge and Groves, 1999: 30)
ในหนังสือจริยศาสตร์ดังกล่าว อริสโตเติ้ลได้อธิบายไว้ว่า คุณธรรมมีสองชนิด คือ คุณธรรมทางปัญญา (intellectual virtue) และ คุณธรรมทางศีลธรรม (moral virtue) คุณธรรมทางปัญญาเกิดจากการพัฒนาและการอบรมสั่งสอนซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และเวลา ส่วนคุณธรรมทางศีลธรรมเป็นผลจากการประพฤติปฏิบัติ (ซึ่งมาจากคำในภาษากรีกว่า "etos" ที่แปลว่านิสัย) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ปรากฏชัดว่า ไม่มีคุณธรรมทางลักษณะนิสัยอันใดที่จะเกิดแก่มนุษย์โดยธรรมชาติ หมายความว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมามีคุณธรรมโดยกำเนิดและไม่มีสิ่งที่เกิดในธรรมชาติอันใดจะก่อให้เกิดลักษณะที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติของสิ่งนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ก้อนหินที่โยนขึ้นไปในอากาศย่อมตกลงมา ไม่สามารถที่จะทำให้มันลอยขึ้นไปเองได้ ไม่ว่าจะใช้ความพยายามมากเท่าใด ดังนั้น คุณธรรมจะเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ได้ก็ไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่ธรรมชาติบางประการในตัวมนุษย์อันได้แก่ปรีชาญาณทำมนุษย์ให้มีความสามารถที่จะมีคุณธรรมนั้นได้ และคุณธรรมทางศีลธรรมเกิดได้ด้วยการประพฤติหรือฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย เช่นเดียวกับทักษะในการทำสิ่งต่าง ๆ กล่าวคือเราเรียนรู้โดยการกระทำ เช่น เราเป็นนายช่างก็โดยการลงมือฝึกปฏิบัติ เป็นนักเล่นพิณก็โดยการลงมือเล่นพิณ เป็นต้น เช่นเดียวกับการที่เราจะเป็นคนมีความยุติธรรมก็โดยการกระทำอย่างยุติธรรม เป็นผู้กล้าหาญก็โดยการกระทำอย่างกล้าหาญ (Aristotle, 2000: 23)
จากความคิดเรื่องคุณธรรมตามที่กล่าวมา อริสโตเติ้ลได้อธิบายเกี่ยวกับคุณธรรมทางศีลธรรมต่อไปว่า คุณธรรมทางศีลธรรมเป็นสภาวะของลักษณะนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือก ประสบการณ์จะเป็นตัวแสดงให้เห็นว่า สภาวะลักษณะนิสัยที่ได้ทำให้บุคคลมีความสามารถทำหน้าที่ของแต่ละคนได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรู้จักความพอดีระหว่างความมากเกินไปและน้อยเกินไป บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรมทางศีลธรรมมักจะเลือกแสดงออกที่มีความสอดคล้องกับ "วิถีกึ่งกลาง" (golden mean) อริสโตเติ้ลอธิบายว่า วิถีกึ่งกลางไม่ได้เหมือนกันในทุก ๆ คน (Albert, et al., 1984: 40) โดยอริสโตเติ้ล ได้กล่าวถึง "วิถีกึ่งกลาง" ไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ได้มีมาตรฐานวัดอย่างตายตัวเป็นอย่างเดียวกันสำหรับทุกคน วิถีกึ่งกลางเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับแต่ละบุคคลเองว่าในสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้น ๆ เขาควรแสดงออกหรือกระทำอย่างไรจึงจะเป็นความพอดีสำหรับตนเอง เช่น อาหารสิบปอนด์อาจมากเกินไปกับการจะกินสำหรับคนบางคนในขณะเดียวกันสองปอนด์ก็ดูจะน้อยเกินไป กรณีเช่นนี้เขาต้องเลือกความพอดีสำหรับตัวเอง ความพอดีสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ บุคคลนั้นต้องใช้เหตุผลหรือปัญญาของตนพิจารณาเลือกด้วยตนเอง
ประเด็นนี้อริสโตเติ้ลได้กล่าวไปถึงคุณธรรมทางลักษณะนิสัย เพราะคุณธรรมทางลักษณะนิสัยเกี่ยวข้องอยู่กับความรู้สึกและการกระทำและสามารถที่จะพบได้จากความมากเกินไป (exess) น้อยเกินไป (defect) และความพอดี (mean)หรือวิถีกึ่งกลาง ตัวอย่างเช่น ความกลัว (fear) ความมั่นใจ(confidence) ความโกรธ (anger) ความสงสาร (pity) และอารมณ์ทั่ว ๆ ไปเหล่านี้มีมากหรือน้อยได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ อย่างเหมาะสมกับเวลา สภาพการณ์ บุคคล และจบลงอย่างถูกต้องในวิถีทางที่ถูกต้องจึงถือได้ว่าเป็นวิถีกึ่งกลางและดีที่สุด และสิ่งนี้ก็คือลักษณะของคุณธรรม ในทำนองเดียวกันความมากเกินไป น้อยเกินไปและความพอดีก็มีอยู่ในการกระทำ คุณธรรมเกี่ยวเนื่องอยู่กับความรู้สึกและการกระทำ ถ้ามากหรือน้อยเกินไปก็จัดได้ว่าผิดเป้าหมาย ในขณะที่ถ้าอยู่ในความพอดีก็จัดได้ว่าถูกต้อง ดังนั้นคุณธรรมก็คือวิถีกึ่งกลาง (Aristotle, 2000: 30)
อริสโตเติ้ลได้อธิบายต่อไปว่าบุคคลอาจจะผิดพลาดต่อการมุ่งไปสู่เป้าหมายในหลายๆ วิธี แต่เขาสามารถกระทำถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้นเพียงวิธีเดียว และความมีเหตุผลก็อยู่ในฐานะเป็นสิ่งที่ดี ความมากและน้อยเกินไปเป็นลักษณะของความไม่ดี ขณะที่ความพอดีเป็นลักษณะของคุณธรรม
ดังนั้น คุณธรรมจึงเป็นสภาวะที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับการเลือก ซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่ในความพอดีที่สัมพันธ์อยู่กับตัวบุคคลและถูกกำหนดด้วยความมีเหตุผล ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้มีปัญญาหรือเหตุผลทางการปฏิบัติจะกำหนดได้ซึ่งเป็นความพอดีระหว่างความสุดโต่งทั้งสองกล่าวคือความมากและน้อยเกินไป ดังนั้นคุณธรรมจึงเป็นความพอดีที่อยู่ในความรู้สึกและการกระทำ (2000: 30)
อริสโตเติ้ลกล่าวต่อไปอีกว่า แต่หาใช่ว่าการกระทำหรือความรู้สึกทุกอย่างจะเป็นความพอดี บางอย่างได้ชื่อว่าเป็นลักษณะเลวทางศีลธรรม เช่น ความเคียดแค้น (spite) ความไร้ยางอาย (shamelessness) ความอิจฉาริษยา (envy) เป็นต้น ในกรณีที่บุคคลอยู่ในอารมณ์เช่นนี้เขาไม่สามารถที่จะพบกับความพอดีได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เลวในตัวเองอยู่แล้ว(2000: 31)
ในบรรดาลักษณะนิสัยที่มาก น้อยและพอดีทั้งสามนี้ อริสโตเติ้ลกล่าวว่า สองอย่างแรกคือความมากเกินไปและความน้อยเกินไปเป็นความไม่ดี แต่อย่างที่สามคือความพอดีนั้นจัดว่าเป็นคุณธรรม แต่ละอย่างนั้นได้อยู่ในลักษณะที่คอยขัดแย้งกันและกัน ความสุดโต่งก็ขัดแย้งกับวิถีกึ่งกลาง ส่วนวิถีกึ่งกลางก็ขัดแย้งกับความสุดโต่งเช่นกัน ดังนั้นสภาวะอันเป็นวิถีกึ่งกลางก็คือสภาวะที่มากเกินไปสัมพันธ์กับสภาวะที่น้อยเกินไป สิ่งนี้อยู่ทั้งในความรู้สึกและการกระทำ (2000: 34)
ด้วยเหตุนั้นอริสโตเติ้ลจึงอธิบายว่าคุณธรรมทางลักษณะนิสัยก็คือการกระทำที่เป็นความพอดีหรืออยู่ในวิถีกึ่งกลาง และอยู่ในความรู้สึกระหว่างความสุดโต่งหรือความไม่ดีทั้งสองคือความมากเกินไปและความน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามอริสโตเติ้ลก็ได้กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบุคคล เรื่องราวเหตุการณ์ เวลาหรือสถานที่อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเฉพาะ เพราะเหตุที่มันไม่ง่ายที่จะกำหนดว่าบุคคลควรโกรธอย่างไร กับใคร ด้วยเหตุผลเช่นไร ยาวนานแค่ไหน ซึ่งในบางครั้งเราก็ได้สรรเสริญบุคคลที่กำลังโกรธเป็นไฟว่าเขาได้แสดงออกอย่างเหมาะสม ตรงกันข้าม ในบางครั้งเราก็ได้ตำหนิคนที่แสดงอาการโกรธน้อยเกินไปด้วยเช่นกันเพราะได้ชื่อว่าไม่แสดงอารมณ์ที่อยู่ในระดับของความถูกต้องเหมาะสม จากสิ่งที่ได้กล่าวมานี้ปรากฏให้เห็นว่าสภาวะกึ่งกลางสามารถค้นพบได้ในทุกกรณี แต่บางครั้งเราก็ต้องเอนเอียงไปหาความมากเกินไปหรือน้อยเกินไปบ้าง เพราะในวิถีทางเช่นนี้เราจะต้องหาความพอดีซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีให้มากที่สุด (2000: 35-36)
ข้ออธิบายข้างต้นทำให้เราพบว่า จริยศาสตร์คุณธรรมของอริสโตเติ้ลไม่ได้เป็นลักษณะคุณธรรมที่ตายตัวเหมือนดังที่นักปรัชญากรีกทั่วไปได้เสนอไว้ แต่เป็นสภาวะที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับการเลือกอย่างมีเหตุผลซึ่งเหมาะสมกับการกระทำเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง กล่าวคือ มันเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับบุคคล เวลา สถานที่ กล่าวได้ว่า คุณธรรมก็คือสภาวะที่สัมพันธ์กับการกระทำที่ถูกต้องนั่นเอง (Albert, et al., 1984: 43) และการกระทำเช่นนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล หรือปัญญาของแต่ละบุคคลที่จะรู้ว่าเขาควรเลือกที่จะแสดงออกต่อสถานการณ์ที่ขัดแย้งอย่างไร ดังนั้น บุคคลที่มีการเลือกอย่างมีเหตุผลจึงเรียกว่าผู้มีคุณธรรมทางศีลธรรมในทรรศนะของอริสโตเติ้ล
ด้วยเหตุที่อริสโตเติ้ลเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล (rational animal) ในการดำเนินชีวิต มนุษย์ย่อมใช้เหตุผลหรือปัญญาช่วยในการตัดสินใจเลือกปฏิบัติให้เกิดภาวะที่เรียกว่าคุณธรรมได้ เพราะความเข้าใจด้วยเหตุผลจึงทำให้เข้าถึงความพอดีระหว่างความเกินกับความขาดแล้วปฏิบัติอยู่ในความพอดีนั้นให้เกิดความต่อเนื่อง โดยปราศจากการฝืนความรู้สึกจนเป็นลักษณะนิสัยที่เรียกว่าลักษณะทางคุณธรรม อีกทั้งการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์คือการใช้ปัญญาควบคุมวิญญาณที่ไร้เหตุผล จึงได้ชื่อว่าเป็น การทำหน้าที่ของมนุษย์อันมีความหมายต่อไปคือสิ่งนั้นเป็นความดีหรือความสุขสำหรับมนุษย์ อาจสรุปได้ว่า วิถีอันนำมนุษย์ไปสู่จุดมุ่งหมายคือความดีนั้นได้แก่ คุณธรรมอันเกิดจากการทำหน้าที่คือ การใช้เหตุผลอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และเป็นความดีที่สมบูรณ์ในตัวเองหรือเป็นจุดมุ่งหมายของการกระทำ ดังนั้น จุดมุ่งหมายกับความดีจึงเป็นสิ่งเดียวกัน
กล่าวโดยสรุป ทรรศนะของอริสโตเติ้ลเรื่องจริยศาสตร์คุณธรรมมีสาระสำคัญคือ ประ การแรก อริสโตเติ้ลเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์ที่แท้จริง คือ เหตุผลและปัญญา (wisdom) ประการที่สอง ด้วยลักษณะของธรรมชาติดังกล่าวมนุษย์จึงแสวงหาความรู้ (desire to know) ประการที่สาม ความรู้ที่เกิดจากปัญญาและเหตุผลนำมนุษย์ไปสู่ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการกระทำ รู้จักแยกแยะการกระทำที่ดีและรู้จักคุณค่าทางศีลธรรมคือ ดี ถูก ผิด ฯลฯ คนดีคือคนที่ทำในสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญาและเหตุผล ประการที่สี่ สิ่งทีดีเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยเหตุผล ด้วยเหตุนี้เมื่ออริสโตเติ้ลกล่าวถึงคุณธรรมจึงหมายถึงสภาวะของการรู้จักตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ไม่ได้หมายถึงตัวคุณธรรมเช่นความกล้าหาญ ความยุติธรรม ดังเช่นที่นักปรัชญากรีกในสมัยเดียวกันเชื่อและอธิบายไว้ ผู้มีคุณธรรมจึงหมายถึงผู้ที่สามารถใช้ปัญญาและเหตุผลตัดสินใจเลือกการกระทำที่ตนเผชิญได้อย่างเหมาะสม มากกว่าจะหมายถึงผู้ที่ยึดหลักคุณธรรมตายตัว คุณธรรมทางศีลธรรมตามทรรศนะของอริสโตเติ้ลจึงเป็น ลักษณะนิสัยของบุคคลที่แสดงออกได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง โดยมีเหตุผลมีปัญญาเป็นพื้นฐาน และอาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวความคิดทางจริยศาสตร์ที่สัมพัทธ์กับแต่ละสถานการณ์ที่ปัญญามีอำนาจตัดสินใจเลือก (power of determining) อย่างเหมาะสม (Jordan, 1987: 158)

อริสโตเติล

อริสโตเติลเกิดเมื่อประมาณ 384 หรือ 383 ปีก่อนคริสตกาลที่เมือสตากีรา (Stagira) ในแคว้นมาเซโดเนีย (Macedonia) ซึ่งเป็นแคว้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือสุดชองทะเลเอเจียน (Aegaeen Sea) ของประเทศกรีก เป็นบุตรชายของนายนิโคมาคัส (Nicomachus) ซึ่งมีอาชีพทางการแพทย์ประจำอยู่ที่เมืองสตาราเกีย และยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าอมินตัสที่ 2 (King Amyntas II) แห่งมาเซโดเนีย ในวัยเด็กนั้นผู้ที่ให้การศึกษาแก่อริสโตเติลคือบิดาของเขานั้นเองซึ่งเน้นหนักไปในด้านธรรมชาติวิทยา เมื่อเขาอายุได้ 18 ปีก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อกับปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุดนั้นคือ เพลโต (Ptato) ในกรุงเอเธนส์ (Athens) ในระหว่างการศึกษาอยู่กับเพลโต 20 ปีนั้นทำให้อริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่ลือนามต่อมาจากเพลโต ต่อมาเมื่อเพลโตถึงแก่กรรมในปี 347 ปีก่อนคริสต์ศักราช อริสโตเติลจึงเดินทางไปรับตำแหน่งเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ในปี 343 - 342 ก่อนคริสตศักราช ต่อมาในปี 336 ก่อนคริสตศักราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าฟิลิป พระองค์จึงได้พระราชทานทุนให้แก่อริสโตเติลเพื่อจัดตั้งโรงเรียนที่สตากิราชื่อไลเซียม (Lyceum) ในการทำการศึกษาและค้นคว้าของอริสโตเติลทำให้เขาเป็นผู้รอบรู้สรรพวิชา และได้เขียนหนังสือไว้มากมายประมาณ 400 - 1000 เล่ม ซึ่งงานต่าง ๆ ที่ได้เขียนขึ้นมานั้น ได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อในศาสนาคริสต์จวบจนกระทั่งยุคกลางหรือยุคมืด ซึ่งมีเวลาประมาณ 1,500 ปีเป็นอย่างน้อย
คำสอนที่น่าสนใจของอริสโตเติลได้แก่ ความเชื่อที่ว่าโลกเรานี้ประกอบด้วยธาตุต่างๆ 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ
ในเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลนั้นอริสโตเติลเข้าใจว่า โลกเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาลโดยมีดวงดาวต่าง ๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์โคจรรอบ ๆ สวรรค์นั้นอยู่นอกอวกาศ โลกอยู่ด้านล่างลงมา น้ำอยู่บนพื้นโลก ลมอยู่เหนือน้ำ และไฟอยู่เหนือลมอีกทีหนึ่ง ธาตุต่าง ๆ ของโลกจะเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ทว่าธาตุที่ประกอบเป็นสวรรค์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงจะมีรูปร่างเช่นนั้นตลอดไป ซึ่งคำสอนต่อมาในปี ค.ศ. 1609 โจฮันน์ เคปเลอร์ (Johann Kepler) ได้ตั้งกฏของเคปเลอร์ ซึ่งเป็นการประกาศว่า โลกเราโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี เป็นการลบล้างความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลของอริสโตเติล
และในอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ กรณีของวัตถุสองอย่างที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน จะตกลงถึงพื้นไม่พร้อมกันตามหลักของอริสโตเติล ซึ่งกาลิเลโอ (Galileo) ได้ทำการพิสูจน์ต่อหน้าสาธารณชนที่หอเอนแห่งปิซาว่าเป็นคำสอนที่ไม่จริงในปี ค.ศ.1600
แต่อย่างไรก็ตาทฤษฏีของอริสโตเติลทางด้านชีววิทยานั้นเป็นที่ยกย่องกันมาก เพราะเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา และพวกสัตว์เลื้อยคลานและได้ทำการบันทึกไว้อย่างละเอียดมาก เขาได้แบ่งสัตว์ออกเป็น 2 พวกใหญ่ คือ พวกมีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrates) นับว่าอริสโตเติลเป็นผู้บุกเบิกความรู้ทางด้านนี้จนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

โสกราตีส รากเหง้าเหตุผลและศีลธรรมตะวันตก

TABLE OF CONTENTS
1. บทนำ 2. ความคิดโดยทั่วไป 3. ชีวิตของโสกราตีส 4. คำสอนของโสกราตีส: แนวความคิดต่างๆ 5. คำสอนของโสกราตีส: จริยธรรม 6. สกุลความคิดรองของโสกราตีส
I. Introduction (บทนำ)
ความเชื่อตามจารีตของชนชาวกรีกโบราณ พวกเขาเชื่อว่า บ้านเมืองต่างๆของพวกเขานั้นได้รับกฎเกณฑ์ต่างๆมาจากเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ปกป้องบ้านเมือง และความสุขหรือความดีที่เกิดขึ้น มาจากการดำเนินชีวิตไปตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น และต่างยอมรับหลักการของมันเช่นเดียวกับการยอมรับเทพเจ้าและเป็นเช่นนั้นชั่วนิรันดร์ แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาพวกโซฟิสท์ทั้งหลายกลับมีความสงสัยต่อศรัทธาอันนี้อย่างถึงราก
เช่นดั่งในกรณีปัญหาเกี่ยวกับความรู้ โดยการปกปักษ์รักษาแนวคิดแบบสัมพัทธนิยม พวกเขาพากันยุติความขี้สงสัย รวมไปถึงข้อกังขาเกี่ยวกับปัญหาหรือคำถามที่มีต่อศีลธรรมด้วย และด้วยการมีอคติเกี่ยวกับเรื่องของอัตวิสัย(Subjective) พวกเขาได้ยุติแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism - การถือเอาประโยชน์เป็นสำคัญ) และสุขนิยม (hedonism) ลงด้วย ทั้งนี้เพราะ นั่นคือสิ่งที่ดีซึ่งสนองความพึงพอใจระดับสัญชาตญานและกิเลสของคน
ความเชื่อในหลักการต่างๆอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับจริยาศาสตร์ ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาในหมู่ชนชาวกรีกนั้น บรรดาพวกโซฟิสท์ทั้งหลายถือว่าเป็นอคติอย่างหนึ่ง และบ่อยครั้งเป็นการขัดขวางหน่วงเหนี่ยวชีวิตด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องขจัดออกไป
บรรดาโซฟิสท์ทั้งหลายยังเห็นว่า "ความดี" เช่นที่แสดงให้เห็นผ่านประสบการณ์ เกิดจากความมั่นคงของตนเองที่ได้มีการสั่งสม เป็นเจ้าของในเชิงปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเรื่องวิธีการที่นำมาใช้เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา สำหรับความดีเหล่านี้สามารถให้ความพอใจกับสัญชาตญานต่างๆและกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับความสุข
ความพยายามหรือมุ่งมั่นเพื่อที่จะเพิ่มความเข้มแข็งแก่บุคลิกภาพของคนๆหนึ่งให้มากขึ้น เพื่อที่จะไปพ้นหรืออยู่เหนือคนอื่นๆในเรื่องของความรุนแรง, และในการแข่งขันหรือต่อสู้ดิ้นรนสำหรับความดีแบบทางโลก อันนี้คืออุดมคติทางศีลธรรมของพวกโซฟิสท์
บรรดาพวกโซฟิสท์ทั้งหลายยังโจมตีความเชื่อตามจารีตเกี่ยวกับ"สิทธิอันชอบธรรม"อย่างรุนแรงด้วย - ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากหลักการต่างๆที่ตั้งอยู่บนฐานของ"ความยุติธรรม" - และพวกเขาได้ทดแทนแนวคิดดังกล่าวด้วย"อำนาจ"สำหรับความยุติธรรมอันนั้น
จากช่วงขณะของการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของผู้คนในพลังประชาธิปไตย ได้เริ่มก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายขึ้นเป็นจำนวนมาก บรรดาโซฟิสท์ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงทำให้"สิทธิอันชอบธรรม"ทางการเมืองและ"ความถูกต้องชอบธรรมอื่นๆ"ขาดความน่าเชื่อถือลงไปเท่านั้น แต่ยังทำให้"สิทธิโดยธรรมชาติ"ได้ประโยชน์ด้วย
พวกโซฟิสท์ปกป้อง"สิทธิตามธรรมชาติ" แต่สิทธิตามธรรมชาติอันนี้ พวกเขาไม่ได้หมายถึงส่วนที่เป็นเรื่องของ"เหตุผล"ของมนุษย์ อันที่จริงแล้วพวกเขาหมายถึง"สัญชาตญาน"และ"กิเลสตัณหา"ของคน. ด้วยเหตุดังนั้นสำหรับพวกเขา "สิทธิ"คือสิ่งซึ่งที่ได้มาโดยการเรียกร้องตัวมันเองโดยผ่านการใช้อำนาจ หรือการบังคับเอาโดยได้รับการสถาปนาขึ้นมาจากอำนาจบังคับและความรุนแรง
มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วไม่เท่าเทียมกัน มันมีทั้งคนที่เข้มแข็งและคนที่อ่อนแอ และสิทธิชั่วคราว(The moment right) เกิดจากอำนาจ มันกลายเป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่เข้มแข็งกว่าที่เป็นคนออกคำสั่งและสร้างกฎหมายขึ้นมา; และผู้ที่อ่อนแอจะต้องเชื่อฟัง
Thrasymachus โซฟิสท์คนหนึ่ง, ในหนังสือเล่มที่หนึ่งของ Republic ของเพลโต ยึดมั่นใน"กฎธรรมชาติคือสิทธิอันชอบธรรมของผู้ที่เข้มแข็งกว่า". คนที่เข้มแข็งนั้น ดูถูกกฎหมายทั้งหมดที่ได้รับการเสนอขึ้นมาโดยคนที่อ่อนแอในนามของความยุติธรรม และยัดเยียดเจตจำนงของเขาให้กลายเป็นสิทธิอันชอบธรรม เช่นดัง Callicles ยืนยันไว้ในเรื่อง Gorgias ของเพลโต
ในที่นี้เรากำลังอยู่ในแนวคิดสุดขั้ว ที่ได้บ่งชี้ถึงคำสอนหรือทฤษฎีทั้งหมดของพวกโซฟิสท์. แนวคิดสุดขั้วดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับคนหนุ่มสาวของเอเธนส์ในช่วงเวลาของ Pericles (รัฐบุรุษแห่งเอเธนส์ 495-429 BC.) คนหนุมสาวทั้งหมดต่างกระวนกระวายที่จะได้รับหน้าที่หรือตำแหน่ง ซึ่งจะประกันความมั่งคั่งและความสุขใจให้กับพวกเขา คำสอนของโซฟิสท์ โดยความดีที่เหนือกว่าระเบียบแบบแผนทั้งหมดของจริยศาสตร์และความยุติธรรม ได้เปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มให้มีหนทางอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ และให้เหตุผลต่อการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความหลอกลวงหรือเล่ห์เพทุบายทั้งหมด และกิเลสอันรุนแรงอย่างถึงที่สุด
ด้วยเหตุดังที่ได้อธิบาย ผู้คนทั้งหลายจึงชื่นชอบและมักจะห้อมล้อมพวกโซฟิสท์บางคน อย่างเช่น Protagoras ผู้ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างผู้มีชัยชนะและอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ ในฐานะแขกคนหนึ่งในบ้านของชาวเอเธนส์ที่มีชื่อเสียงต่างๆโดยทั่วไป
โดยเหตุดังนั้น อย่างที่ได้อธิบายมาแล้วเช่นกัน ในฐานะที่เป็นภารกิจอันสูงส่งของโสกราตีส ผู้ซึ่งได้มาฟื้นฟูคุณค่าต่างๆของความมีศีลธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และไม่อาจล่วงละเมิดได้ เพราะมันตั้งอยู่บนพื้นฐานของ"เหตุผล"และไม่ใช่เรื่องของ"กิเลสตัณหา"อันไม่อาจควบคุมได้ โสกราตีสได้ใช้ชีวิตที่มีอยู่ทั้งหมด และดำเนินไปอย่างไม่ไร้ประโยชน์เพื่อการนี้
2. ความคิดเห็นโดยทั่วไป II. General Notions
บรรดาพวกโซฟิสท์ได้โยกย้ายความสนใจของพวกเขามาอยู่ที่มนุษย์ แต่พวกเขาก็หยุดมัน ณ ความประทับใจต่างๆอันอ่อนไหว ที่เป็นข้อมูลเชิงประสบการณ์(Empirical data) โดยตรรกะแล้วพวกเขามาจบลงตรงที่ความขี้สงสัย
ส่วนโสกราตีส ได้ขับเคลื่อนต่อไปบนระนาบเดียวกันเช่นเดียวกับพวกโซฟิสท์ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ และยกเอาคติพจน์ของ Delphic ขึ้นมาคือ "จงรู้จักตัวของท่านเอง"(Know thyself)มาใช้ในฐานะที่เป็นมาตรฐานการสอนของเขา. เขามิได้หยุดลงที่เรื่องของความรู้สึกต่างๆ(Sensations), ณ ความรู้ในลักษณะความคิดเห็น (opinionative knowledge); การสืบสวนของเขาโน้มเอียงไปสู่การพินิจพิเคราะห์และการตรวจสอบอย่างละเอียด ในเหตุผลของเขา ในส่วนลึกซึ้งและเป็นแก่นแท้มากกว่าของมนุษย์ ที่ซึ่งมนุษย์คือมนุษย์
มันเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุผลอย่างถึงแก่นอันนี้ ที่ทำให้เขาค้นพบความรู้ขึ้นมาอันหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะต่างๆของความเป็นสากลและความจำเป็น: นั่นคือแนวความคิด(Concept). ข้อสังเกต การค้นพบของโสกราตีสอันยิ่งใหญ่นี้ ทำให้ปรัชญาได้พบกับวิถีทางของมัน และต่อมาภายหลังได้มาถึงความเป็นระบบต่างๆอันยิ่งใหญ่ ซึ่งความคิดจิตใจของมนุษย์สามารถสร้างขึ้นมาได้
โสกราตีส ก็คล้ายๆกับพวกโซฟิสท์ ไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องของเมตาฟิสิกส์, และสร้างข้อแก้ตัวให้กับตัวเองโดยกล่าวว่า ธรรมชาติทุกสิ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเทพเจ้าต่างๆ. เขาเพ่งความสนใจของตัวเองทั้งหมดลงยังการแสวงหาแนวคิดหรือมโนคติเกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรมต่างๆ; เขาถูกทำให้เชื่อมมั่นว่าปฏิบัติการทางศีลธรรมจะต้องนำหน้ามาก่อนสิ่งอื่นโดยแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม และเป็นปรปักษ์ต่อความคิดเกี่ยวกับการทำลาย ซึ่งเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับคำสอนของพวกโซฟิสท์
ภายหลังจากการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโสกราตีส บรรดาพวกโซฟิสท์มิได้หายสาบสูญไปแต่อย่างใด เราได้พบพวกเขาในช่วงระหว่างวันเวลาของอริสโตเติลด้วย แต่พวกเขาได้สูญเสียความมีอิทธิพลและความสำคัญของพวกตนไปจนหมดสิ้น
3. ชีวิตของโสกราตีส III. Life of Socrates
โสกราตีสถือกำเนิดในปี 470 หรือ 469 B.C.E., ในกรุงเอเธนส์ เป็นบุตรของ Sophroniscus, ผู้พ่อซึ่งมีอาชีพเป็นประติมากร และ Phaenarete ผู้เป็นแม่ซึ่งเป็นหมอตำแย. ในช่วงแรกเขาได้ร่ำเรียนศิลปะจากพ่อของเขา แต่ต่อมาภายหลังได้อุทิศตัวเองให้กับการทำสมาธิและการสอนปรัชญาโดยปราศจากค่าตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงความยากจนข้นแค้นของตัวเอง
ความสำนึกเกี่ยวกับงานอาชีพของเขา ซึ่งเขาพิจารณาว่ามันเป็นภารกิจแห่งสวรรค์ เขาไม่ยอมให้ตัวเองถูกทำให้ไข้วเขวโดยความกังวลใจเกี่ยวกับบ้านและความสนใจต่างๆทางการเมือง. โสกราตีสได้แต่งงานกับผู้หญิงชาวเอเธนส์คนหนึ่ง นามว่า Xanthippe ซึ่งเป็นคนที่มีคุณลักษณะทางอารมณ์ที่ปรวนแปรและแปลกประหลาดเอามากๆ. แน่นอน Xanthippe ไม่ใช่ภรรยาในอุดมคติ แต่จะต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า โสกราตีสก็ไม่ใช่สามีในอุดมคติเช่นเดียวกัน เขาลืมหน้าที่ต่างๆในบ้านของเขา เพราะมันอยู่นอกเหนือความสนใจอย่างสุดขั้วของเขาในเรื่องปรัชญานั่นเอง
โสกราตีสไม่ได้อุทิศตัวให้กับเรื่องทางการเมืองอย่างแข็งขัน แม้ว่าในช่วงวัยหนุ่ม เขาจะเป็นทหารก็ตาม และได้ช่วยชีวิต Alcibiades (นายพลและนักการเมืองชาวเอเธนส์)ในการศึกแห่ง Mantinea. เขาเชื่อว่า มันจะเป็นการดีกว่าที่จะรับใช้ประเทศของเขา โดยการอุทิศตัวเองในฐานะที่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่สมบูรณ์แบบที่สุด เชื่อฟังกฎหมายต่างๆ แม้กระทั่งจะต้องบูชายัญหรือสังเวยชีวิตของตัวเองก็ตาม และนอกจากนี้ การอุทิศตัวของเขายังจะเป็นการเตรียมคนหนุ่มให้มีความเฉลียวฉลาดขึ้น ในทางที่ตรงข้ามกับคนหนุ่มที่เห็นแก่ตัวและบ้าอำนาจซึ่งบรรดาพวกโซฟิสท์สร้างขึ้น ซึ่งได้เบี่ยงเบนไปและทำให้ประเทศชาติหย่อนยาน
แต่ทัศนคติและท่าทีในเชิงวิพากษ์และเหน็บแนมประชดประชันของโสกราตีส และการศึกษาที่ตามมาที่ถูกเสี้ยมสอนโดยเขา ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจโดยทั่วไปและความเป็นปรปักษ์ของผู้คน รวมไปถึงความเป็นอริส่วนตัวที่หลายๆคนมีต่อเขา ทั้งนี้โดยไม่คำนึงถึงความซื่อตรงหรือความตรงไปตรงมาของเขา
โสกราตีสเป็นที่ประจักษ์ในฐานะผู้นำของปัญญาชนชั้นสูงคนหนึ่ง ที่อยู่ด้านตรงข้ามกับทรราชย์หรือผู้ปกครองที่กดขี่ประชาชน และเป็นกระทั่งตัวกลั่นที่แท้จริงของพวกปฏิกริยา. สภาวการณ์ทางความคิดอันนี้ที่เป็นปรปักษ์ต่อโสกราตีส ซึ่งมันได้ตกผลึกและมีการนำเอารูปธรรมทางกฎหมายมาใช้เพื่อกล่าวโทษและประณามเขาอย่างรุนแรงโดย Meletus, Anytus, และ Lycon ในข้อหาคนหนุ่มที่ชั่วช้า ทุจริตคิดมิชอบ ปฏิเสธเทพเจ้าต่างๆของชาติ และได้นำเสนอเทพเจ้าองค์ใหม่ๆขึ้นมาแทน
โสกราตีสดูถูกเหยียดหยามการที่จะปกป้องตัวเอง และด้วยเหตุดังนั้น เขาจึงยินยอมให้กับความหยิ่งทะนงและความยโสอันไร้สาระของบรรดาผู้พิพากษาซึ่งได้ลบหลู่ตัวเขาให้ได้อายต่อหน้าผู้คน โดยบอกให้เขากล่าวขอโทษต่อการกระทำของตัวเขาไม่มากก็น้อย
ต่อสายตาของจิตวิญญานของตัวเอง เขาไม่ยอมพ้นโทษเพื่อชีวิตทางโลก เพราะเขาเชื่อว่า สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือการตัดสินอันเป็นนิรันดร์ของเหตุผล ซึ่งมันจะเป็นอมตะและไม่มีวันตาย. เขาเลือกที่จะตาย. เขาถูกประกาศว่ากระทำความผิดโดยคะแนนเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เขายืนขึ้นด้วยจิตวิญญานอันไม่อาจเอาชนะได้ และอย่างไม่ย่อท้อต่อหน้าศาลสถิตยุติธรรม และถูกตัดสินว่ามีความผิดให้ต้องตาย
โสกราตีสถูกบังคับให้อยู่ในคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนการประหาร (ทั้งนี้เพราะ กฎหมายห้ามให้มีการดำเนินการลงโทษประหารในช่วงระหว่างที่เรือศักดิ์สิทธิ์ไม่อยู่ เพราะต้องออกเดินทางไปที่ Delos ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งของกรีกปีละครั้ง) Crito สานุศิษย์ของโสกราตีสได้เข้ามาเยี่ยมเยือนเขาในคุก และวางแผนการหนีให้กับอาจารย์ของเขา แต่อย่างไรก็ตาม โสกราตีสปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น และประกาศว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขาไม่ปรารถนาที่จะทอดทิ้งการเชื่อฟังต่อกฎหมายต่างๆของประเทศของตน
เขาใช้เวลาผ่านไปโดยการเตรียมตัวสำหรับความตาย โดยการสนทนากับสานุศิษย์ทั้งหลายของเขาเกี่ยวกับเรื่องของจิตวิญญาน. และที่มีชื่อเสียงเหนือกว่าเรื่องใดของเขาก็คือ "การสนทนาในเรื่องความเป็นอมตะของวิญญาน"(dialogue on the immortality of the soul) ซึ่งมันเกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆก่อนการตายของเขา และเรื่องนี้ได้รับการสาธยายใหม่อีกครั้ง ด้วยศิลปะอันหาที่เปรียบมิได้โดยเพลโตในเรื่อง Phaedo
คำพูดสุดท้ายของโสกราตีสที่มีต่อบรรดาสานุศิษย์ของเขา ภายหลังจากความเงียบสงัดเมื่อเขาได้ดื่มยาพิษ(Hemlock - เป็นพืชมีพิษชนิดหนึ่ง) ลงไปแล้ว คือ "ฉันเป็นหนี้ Aesculapius ด้วยไก่ตัวหนึ่ง" (Aesculapius คือเทพเจ้าทางด้านแพทยศาสตร์) ซึ่งได้เป็นผู้ส่งตัวเขาจากความชั่วร้ายของชีวิตด้วยของขวัญคือความตาย. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นปี 399 B.C.E., รวมอายุของโสกราตีสได้ 71 ปี
4. คำสอนของโสกราตีส: แนวความคิดต่างๆ IV. The Doctrine of Socrates: Concepts
หลักคำสอนของโสกราตีส สามารถที่จะได้รับการสรุปลงได้ด้วยคำเพียงสองคำคือ แนวความคิดต่างๆ(Concepts), ศีลธรรม (morality) - หรือที่ดีกว่า ควรจะเป็น แนวความคิดต่างๆทางศีลธรรม
สำหรับโสกราตีส แนวความคิดคือสิ่งซึ่งเกี่ยวกับความคิดทั้งหมด เมื่อพวกเขาได้พูดถึงสิ่งๆหนึ่ง กล่าวคือ ในส่วนที่เป็นเรื่องของเหตุผลของคนทุกๆคน มันมีความนึกคิดต่างๆดำรงอยู่ ซึ่งต่างมีอยู่ร่วมกันทั้งหมด และด้วยเหตุนี้จึงมีความพอใจและความเพลิดเพลินอย่างเป็นสากลและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และแนวความคิดนั้น มันเป็นรูปแบบอันเป็นรากฐานของความเข้าใจหรือความรู้ที่แท้จริง(For Socrates, the concept is that of which all think when they speak of a thing. In the rational part of every man there exist some notions which are common to all and hence enjoy universality and necessity, and which form the substratum of true understanding or knowledge).
แนวความคิดเกี่ยวกับสิ่งซึ่งบรรดาโซฟิสท์ทั้งหลายพูดคุยกันนั้น มันเป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น(An opinion) หรือเป็นเพียงความรู้ชั่วแล่น (a fleeting instant of knowledge). โสกราตีสไม่ได้ประเมินคุณค่าความรู้นี้ว่าต่ำแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ได้พิจารณามันว่าเป็นความรู้ที่สมบูรณ์; สำหรับความรู้ที่แท้นั้น ควรจะดีพอที่จะสถาปนาขึ้นมาเพื่อรับใช้ในฐานะที่เป็นรากฐานของศาสตร์
ศาสตร์ที่แท้(True science) เป็นสิ่งสากล; นั่นคือ มันเป็นของร่วมกันหรือสาธารณะกับมนุษย์ทุกคนและเป็นเช่นนั้นตลอดเวลา; มันเป็นเรื่องของภาววิสัย (objective), ไม่ใช่เรื่องของอัตวิสัย (subjective) ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามชะตากรรม. ศาสตร์ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความเข้าใจโดยผ่านแนวความคิดต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่เป็นสากลเช่นเดียวกันกับศาสตร์ในตัวมันเอง
เพื่อเข้าถึงความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดต่างๆเหล่านั้น โสกราตีสได้ใช้วิธีการสนทนาแบบอุปนัย(Inductive method - เป็นวิธีการพิสูจน์โดยอ้างประสบการณ์เฉพาะหน่วยที่แน่ใจแล้ว สนับสนุนข้อความทั่วไปที่ยังไม่แน่ใจให้มีความแน่ใจมากขึ้น) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิธีการของโสกราตีส (Socratic Method), ส่วนประกอบที่สำคัญของมัน มีอยู่สองส่วนคือ การเหน็บแนม (irony), และการซักถามที่เป็นการสืบสวน (maieutics). โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นดังต่อไปนี้:
- อันดับแรก โสกราตีสจะยกคำถามขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น "อะไรคือความยุติธรรม?" เมื่อเขากล่าวออกมาเช่นนั้น เป็นเพราะตัวเขาเองไม่รู้ว่าความยุติธรรมมันเป็นอย่างไรกันแน่ (อันนี้คือ การไม่รู้ของโสกราตีส - Socratic ignorance), เขาจะถามนักเรียนของเขาถึงสิ่งที่พวกเขาคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม
- บรรดานักเรียนทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกโซฟิสท์จะตอบคำถามไปตามวิธีการของพวกโซฟิสท์ โดยอ้างอิงตัวอย่างต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น "เทพเจ้าซีอุสคือความยุติธรรม"; "เทพเจ้าต่างๆล้วนคือความยุติธรรม" ฯลฯ. (อันนี้ยกเป็นตัวอย่าง). "โอ้, จำนวนความยุติธรรม!" โสกราตีสร้องทัก. "ฉันถามว่าอะไรคือความยุติธรรม แต่พวกเธอกลับตอบฉันถึงความยุติธรรมจำนวนมาก"
- ด้วยเหตุนี้ เขาได้ผ่านไปสู่การวิจารณ์(เหน็บแนม)เกี่ยวกับตัวอย่างต่างๆที่อ้างขึ้นมา โดยการที่เขามีความชัดเจนต่อความคิดต่างๆที่มีอคติของบรรดาสานุศิษย์ของเขา และความคิดที่ผิดพลาดเกี่ยวกับคำถามที่นำมาถาม
- จากการใช้วิธีการเหน็บแนม(irony) เขาจะผ่านไปสู่การตั้งคำถามในเชิงสืบสวน(maieutics) - ศิลปะซึ่งโสกราตีสใช้พูด เขาได้เรียนรู้มาจากแม่ของเขา ซึ่งเธอได้ช่วยเหลือในส่วนของร่างกาย ส่วนเขาได้ทำในส่วนที่เกี่ยวกับจิตวิญญานให้สมบูรณ์ขึ้น. (คำว่า maieutics นี้ได้รับการสืบทอดมาจากคำศัพท์ภาษากรีก" maieutikos," ซึ่งเป็นเรื่องของการผดุงครรภ์ หรือการคลอด). วิธีการตั้งคำถามในเชิงสืบสวน(maieutic)เป็นวิถีทางของโสกราตีสในการทำให้ความคิดต่างๆที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใจได้เผยตัวหรือคลอดออกมา
- การตั้งคำถามแบบสืบค้นเป็นส่วนของข้อสรุปของการสนทนา ซึ่งโสกราตีสพยายามที่จะทำให้สานุศิษย์ของเขามองเห็นว่ามันเป็นอย่างไร โดยการสะท้อนความคิดและการไตร่ตรองตัวของพวกเขาเอง พวกเขาสามารถสังเกตเห็นการมีอยู่ของธาตุแท้บางอย่างที่มีอยู่ร่วมกัน และจำเป็นต่อความยุติธรรมทั้งหมด (แนวความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม)
- ธาตุแท้เหล่านั้นมีลักษณะที่เป็นรูปธรรมในการนิยาม ซึ่งสรุปได้ด้วยคำต่างๆเพียงไม่กี่คำที่เป็นคุณลักษณ์เฉพาะที่ถูกวินิจฉัยว่า จำเป็นต่อแนวความคิดเกี่ยวกับคำถามที่ยกขึ้นมา
ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า การสนทนาของโสกราตีสไม่ได้ประสบผลสำเร็จในการนิยาม หรือทำให้นิยามความหมายมีความคงที่เสมอไป. ในหลายๆกรณี สิ่งที่เรียกว่า การไม่รู้ของโสกราตีส(Socratic ignorance) ซึ่งโสกราตีสได้สารภาพออกมานับจากเริ่มต้นของการตั้งคำถาม ไม่ใช่การโกหก. ดังนั้นการสนทนาจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง กระทำโดยการช่วยเหลือของนักเรียนทั้งหลายเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ถ้าเป็นไปได้ว่า มันก็จะนำพาไปสู่แนวความคิดหนึ่งได้ - นั่นคือความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับคำถามที่เสนอขึ้นมา



5. คำสอนของโสกราตีส: จริยศาสตร์ V. The Doctrine of Socrates: Ethics
ในเรื่องของจริยศาสตร์ โสกราตีสไม่ได้ไปพ้นจากการมีอคติของลัทธิปัญญาชนของกรีก ซึ่งทำให้การปฏิบัติต่างๆเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับทฤษฎีอย่างสมบูรณ์. มันเพียงพอแล้วที่จะรู้จักคุณความดี(virtue)เพื่อที่จะทรงไว้ซึ่งความดี
ทุกๆคนปรารถนาในความสุข. ถ้าเผื่อเขาไม่บรรลุถึงความสุข ก็เป็นเพราะเขาไม่รู้จักหนทางที่น้อมนำไปสู่ความสุขนั่นเอง. ผลที่ตามมา คนที่ได้รับการเรียกว่า"คนชั่ว"นั้น ความจริงแล้วเป็นคนที่ไม่รู้(Ignorant) เท่านั้น; ความชั่ว (evil) ได้ถูกลดทอนลงสู่ความผิดพลาด (error). อย่างคำว่า"ความชั่วร้าย"(Vice) เป็นคำที่พ้องกับคำว่า อวิชชา (ความไม่รู้-ignorance) ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับความดี (good) จึงเป็นคำที่พ้องกันกับคำว่า คุณงามความดี (virtue)
ด้วยเหตุนี้ จึงง่ายที่จะเห็นว่า ทำไมโสกราตีส ผู้ซึ่งมีเจตนาและความตั้งใจที่สร้างเยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีคุณความดีขึ้นมา และจำกัดการสอนของเขาลงมาสู่การแสวงหาเกี่ยวกับแนวความคิดต่างๆในเรื่องของศีลธรรม(Moral concepts) สำหรับตรงนี้ควรจะได้รับการหมายเหตุลงไปว่า ลัทธิปัญญาชนทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่นำเสนอมาโดยตลอดความคิดกรีกทั้งหมด โดยไม่มีข้อยกเว้นในระบบต่างๆทางด้านจริยศาสตร์ของเพลโต และอริสโตเติล
6. สกุลความคิดรองของโสกราตีส VI. Minor Socratic Schools
คำสอนของโสกราตีสมีประเด็นหลักๆอยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือ อันแรกเป็นเรื่องของแนวความคิด ส่วนอันที่สองคือเรื่องของศีลธรรมหรือจริยธรรม. แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าลูกศิษย์ของโสกราตีสทั้งหมดจะบรรลุถึงความเข้าใจในความล้ำลึกเกี่ยวกับคำสอนของปรมาจารย์ของพวกเขา
สานุศิษย์เป็นจำนวนมาก แรกเริ่มเดิมทีได้ร่ำเรียนกันมาจากบรรดาพวกโซฟิสท์ หรือไม่ก็มาจากสำนัก Eleatics, และพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะ หรือดำรงตำแหน่งสถานะทางสังคมในช่วงเริ่มต้นของพวกเขา และในการเข้าใจและรู้ซึ้งความหมายเกี่ยวกับแนวความคิดของโสกราตีสในความบริสุทธิ์ของมัน พวกเขาเชื่อว่า แนวความคิดของโสกราตีสไม่ได้แตกต่างไปจาก Protagoras มากนัก ซึ่งกล่าวว่า "มนุษย์คือมาตรวัดของสรรพสิ่ง"(man -- measure-of-all-things) และในเรื่องคำสอนเกี่ยวกับ"ความดี"ก็เป็นอย่างเดียวกันกับคำสอนเรื่องนี้ของ Parmenides
ทายาทหรือผู้สืบทอดมรดกทางจิตวิญญานของ"โสกราตีส"คือ"เพลโต" ผู้ซึ่งอยู่ในอคาเดมีและได้นำพาคำสอนของปรมาจารย์ไปสู่การพัฒนาจนถึงขีดสูงสุดของมัน
คนอื่นๆ ภายหลังจากที่โสกราตีสถึงแก่กรรม ได้หวนกลับไปยังบ้านเกิดของตนเอง และได้เปิดสำนักความรู้ต่างๆขึ้นมา โดยการสอนสิ่งซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงการหวนกลับไปสู่คำสอนของพวกโซฟิสท์หรือเอเลียติค(Eleatic). สำนักความรู้เหล่านี้ถูกเรียกว่าสำนักความคิดรองของโสกราตีส(Minor Socratic Schools) ที่เรียกว่า Socratic ก็เพราะว่า หลังจากตัวอย่างต่างๆของโสกราตีส พวกเขาได้ให้ความสนใจในความรู้เกี่ยวกับศีลธรรม; และที่เรียกว่า Minor ก็เพราะ ความคิดของโสกราตีสไม่ได้รับการอธิบายเพื่อคุณความดีของตัวมันเอง แต่โดยการที่เอียงไปสู่ตำแหน่งเดิมต่างๆนั่นเอง
สำนักความคิดชั้นรองมีอยู่ด้วยกัน 4 สำนักคิดคือ
1. The Megarian, ก่อตั้งขึ้นมาโดย Euclid แห่ง Megara
2. The Elian, ก่อตั้งขึ้นมาโดย Phaedo
3. The Cynic; และ
4. The Cyrenaic
ในที่นี้เราจะมาอธิบายถึงหลักการต่างๆของสำนักคิดสองสำนักคิดสุดท้าย ซึ่งทั้งสองสำนักนี้ได้ยึดครองความสำคัญที่แท้จริงมา นับตั้งแต่ที่มันได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นบรรพบุรุษทางประวัติศาสตร์และคำสอนที่เป็นอนุสาวรีย์ทางความคิดอื่นอีกสองสำนักความคิด แห่ง Grecian ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก - นั่นคือ stoicism และ Epicureanism.
สำนักความคิดไซนิค The Cynic School.
สำนักความคิดนี้ได้รับการเปิดสอนขึ้นมาโดย Antisthenes, ผู้ซึ่งเป็นสานุศิษย์คนแรกของ Gorgias และภายหลังได้มาเป็นสานุศิษย์ของโสกราตีส. เขาได้สอนอยู่ที่ Cynosarges แห่งเอเธนส์ ด้วยเหตุดังนั้นมันจึงได้ชื่อว่า Cynic
Antisthenes สอนว่า ความรู้(knowledge - [cognition การรับรู้]ไม่อาจไปพ้นจากข้อมูลของผัสสะต่างๆ และในเมื่อ"ประสาทสัมผัส"ต่างๆเป็นเรื่องของ"ปัจเจก" เขาจึงสรุปว่า "มีเพียงปัจเจกเท่านั้นที่เป็นจริง" ยิ่งไปกว่านั้น ดังเช่นที่ปัจเจกชนทุกคนมีแก่นแท้ของตัวเองและไม่มีอื่นอีก Antisthenes จึงลงความเห็นว่า ความผิดพลาดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และในท้ายที่สุด ทุกนิยามความหมายจึงเป็นไปไม่ได้(Antisthenes inferred that error is impossible and finally every definition is impossible.)
ด้วยเหตุนี้ อะไรคือแนวคิดต่างๆที่โสกราตีสได้สนทนาถึง ? คำตอบง่ายๆก็คือ คำนามต่างๆ(nouns). Antisthenes คือผู้อาศัยประสบการณ์และการสังเกต และสำหรับเรื่องราวที่เกี่ยวกับเขานั้นได้รับการเล่าขานว่า เขาได้มีการปะทะคารมกับเพลโตครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแนวความคิดต่างๆ เขากล่าวว่า:
"โอ้! เพลโต ฉันเห็นม้าตัวหนึ่ง แต่ความเป็นม้า(horseness) ฉันมองไม่เห็นมัน"
เพลโตตอบว่า: "ท่านมิได้เห็นความเป็นม้า เพราะท่านไม่มีอะไรเลย เว้นแต่ลูกตาเฉยๆที่ติดมากับร่างกาย"
ในทางจริยศาสตร์ คุณงามความดี(virtue)มิใช่หนทางที่ทำให้บรรลุถึงสิ่งที่ดี(good) แต่มันคือสิ่งที่ดีในตัวของมันเอง. ในเมื่อคุณงามความดีคือสิ่งที่ดี ดังนั้นความชั่วร้าย(vice)จึงเป็นสิ่งที่ชั่ว(evil)ในตัวมันเองด้วย. ทว่าคุณงามความดีมันเกิดขึ้นมาจากอะไร? ในความคิดแบบเอกาธิปไตย(autarchy) ยกตัวอย่างเช่น ในการครอบครองเหตุผลของคนๆหนึ่ง ซึ่งบอกกับเราถึงความพึงพอใจต่างๆ ความร่ำรวย และทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกเรียกว่าอารยธรรมของคนๆหนึ่งคือสิ่งชั่วร้าย ที่มันเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายเพราะ มันทำให้รู้สึกถึงความต้องการเหล่านั้น.
โดยเหตุนี้ แนวคิดของไซนิค จึงแยกตัวออกไปต่างหากจากสังคม และดำรงอยู่อย่างมนุษย์ในยุคบุพกาลด้วยสิ่งของที่จำเป็นเพียงไม่กี่อย่าง และสิ่งที่ไม่กี่อย่างเหล่านี้มันได้มาจากธรรมชาตินั่นเอง ระหว่างธรรมชาติกับสังคมอย่างที่เรารู้กัน โดยความสุขสบายทั้งหมดของชีวิต มันมีความแตกต่างเช่นเดียวกันกับเรื่องระหว่างคุณงามความดี และความชั่วร้าย. การดำรงชีวิตอยู่โดยความเข้าใจธรรมชาติ นั่นคือ แบบจำลองของชีวิตแบบไซนิค
บุคคลซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของสำนักความคิดไซนิคคือ Diogenes แห่ง Sinope. ลัทธิไซนิคเป็นปฏิกริยาอันหนึ่งระหว่างชนชั้นที่ยากจนกับชนชั้นสูงที่ตรงข้ามกัน; โดยที่ปฏิกริยาดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาในนามของธรรมชาติ
สำนักความคิดไซเรนเนียค The Cyrenaic School.
สำนักความคิดนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาที่เมือง Cyrene, ซึ่งในช่วงวันเวลานั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของลิเบีย(อยู่ทางแอฟริกาตอนเหนือ) ก่อตั้งขึ้นมาโดย Aristippus ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเป็นสานุศิษย์ของโสกราตีส เขาได้เคยฟังการบรรยายของ Protagoras.
ในเรื่องของการรับรู้ สำหรับ Aristippus แล้ว เพียงประสาทสัมผัสต่างๆส่วนตัวเท่านั้นจึงเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้; อันนี้เป็นการแสดงนัยะว่า ขอบเขตของความรู้นั้น ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การรับรู้ (cognition) ของสภาวะหนึ่งภายหลังอีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งตัวตน (ตัวรับ) ได้สังเกตตัวของตัวเองในฐานะประสาทสัมผัสต่างๆ ดังนั้นพวกเราจึงเป็นอายตนะนิยมอันบริสุทธิ์ (pure sensism) ตามสิ่งซึ่งความจริงเป็น แต่ก็เป็นความต่อเนื่องของปรากฎการณ์อัตวิสัย โดยไม่มีความสัมพันธ์อะไรเลยกับวัตถุภายนอกใดๆ
สำหรับ Airstrip’s ไม่มีเรื่องของเมตาฟิสิกส์หรือสิ่งที่เหนือจากความจริงทางกายภาพ ในเมื่อตัวตนยังคงแนบชิดอยู่กับเรื่องประสาทสัมผัสต่างๆ
เกี่ยวกับเรื่องของจริยศาสตร์ บรรดานักคิดสำนักไซเรนเนียน ค่อนข้างจะตรงข้ามกับพวกไซนิค นั่นคือ พวกเขายืนยันว่า คุณงามความดีมีไว้เพื่อความพึงพอใจ ส่วนความชั่วร้ายดำรงอยู่ในความเจ็บปวด. ตามหลักตรรกะอันนี้ของพวกเขา คุณงามความดีจึงเป็นผัสสะที่ให้ความพึงพอใจ และความชั่วร้ายเป็นผัสสะที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด
บรรดานักคิดไซเรนเนียนมีทฤษฎีของพวกเขาเกี่ยวกับประสาทสัมผัสอันหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดคือ
1. สิ่งที่ให้ความพอใจ(Pleasant)
2. สิ่งที่ให้ความเจ็บปวด(Painful) และ
3. เฉยๆ (indifferent)
คนฉลาดจะพยายามแสวงหาหนทางที่ไกลห่างจากสิ่งที่ให้ความเจ็บปวด หรือพยายามลดมันลงมาให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่เขาจะเปลี่ยนความเป็นกลางหรือความรู้สึกเฉยๆไปสู่ผัสสะของความพึงพอใจต่างๆ
ในด้านหนึ่งนั้น คุณงามความดีมีไว้เพื่อน้อมนำให้ตัวเองไปสู่สภาวะทางอารมณ์ต่างๆที่สุภาพอ่อนโยนมากเท่าที่จะเป็นไปได้. เนื่องจากเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่สภาวะของการยอมจำนนหรือเป็นฝ่ายรับ(Passive) ผัสสะที่น่าพอใจซึ่งมีคุณงามความดีประกอบอยู่ แต่ในทางสูงสุดมันพยายามที่จะปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยและดำรงอยู่กับความพึงพอใจในระดับสูงสุด (อันนี้ได้รับการเรียกขานว่า ลัทธิสุขนิยมพลวัต - dynamic hedonism)
คนฉลาดจะต้องพยายามธำรงความเป็นนายให้อยู่เหนือตัวของเขาเอง ขณะเดียวกันก็จะต้องดำรงอยู่ในแก่นกลางของความพึงพอใจ. เขาจักต้องครอบครองมันแต่จะต้องไม่ถูกมันยึดครอง ดังที่ Horace ได้กล่าวเอาไว้เช่นนั้น. ในสภาวะที่เลิศสุด นักคิดไซเรนเนียนที่เฉลียวฉลาดจะเป็นคนที่มีความสุข ซึ่งได้ค้นพบข้อจำกัดหนึ่งเพียงในเรื่องของเหตุผลเท่านั้น
บรรดาสานุศิษย์ของ Aristippus ได้พัฒนาสิ่งกระตุ้นในเรื่องของเหตุผลไปไกลเกินกว่าความพึงพอใจทีรับรู้ได้อย่างฉับพลัน และถูกทำให้สิ้นสุดลงโดยการสรุปของ Theodore ผู้ไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า (Atheist) ว่า "ไม่มีอะไรที่ดำรงอยู่เลย เว้นแต่ความพึงพอใจ". ส่วนคนอื่นๆ อย่างเช่น Hegesias, ผู้เชื้อเชิญความตาย ได้มาสู่ข้อสรุปที่ว่า "ชีวิตเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่โดยไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย ถ้าเผื่อว่ามันขาดแคลนซึ่งความพึงพอใจ"
นั่นคือสองตัวอย่างของสำนักทางความคิดรองแบบโสกราตีส(Minor Socratic Schools) ส่วนสำนักทางความคิดแบบโสกราตีสที่ยิ่งใหญ่สุดนั้น หรืออ้างถึงสำนักทางความคิดหลักแบบโสกราตีส (Major Socratic School) ก็คือ"อคาเดมี"ของเพลโต (the Academy of Plato) ซึ่งความคิดหลักต่างๆได้ดำรงอยู่อย่างใกล้ชิดมากกับเจตนาดั้งเดิมของคำสอนของโสกราตีส

โสคราตีสคนจริง

1. ชีวิต (469-399 ก่อนคริสตกาล)
โสคราตีสในภาพลักษณ์ของเรานั้นเป็นชายหนุ่ม ชีวิตวัยหนุ่มของโสคราตีส เราไม่รู้จัก เอกสารชิ้นแรกสุดที่พูดถึงเขาคือ (บทละครเรื่อง) หมู่เมฆ ของอริสโตฟาเน็ส โสคราเต็สตายในปี 399 ด้วยการดื่มยาพิษ พ่อของโสคราตีสเป็นช่างเรียงหิน แม่เป็นหมอตำแย แต่ถึงแม้จะมีชาติกำเนิดไม่เด่นเป็นพิเศษอันใดเขาก็ได้เป็นพลเมืองเอเธนส์ด้วยการใช้ชีวิตตระหนี่ถี่ถ้วนเขาจึงเป็นอิสระในด้านวัตถุปัจจัย ต้องขอบคุณมรดกก้อนน้อย ๆ กับเงินอุดหนุนของรัฐที่จ่ายให้กับชาวเอเธนส์ทุกคน (ค่าธรรมเนียมโรงมหรสพและอะไรทำนองนี้) ในหน้าที่พลเมืองที่ต้องรับใช้รัฐด้านการทหาร โสคราตีสเป็นทหารเดินเท้าในสงครามเปโลปอนเนเซีย เข้าระจัญบานที่สมรภูมิเดลิอ็อนและแอ็มฟิโปลิส ส่วนภาระหน้าที่ด้านการเมืองอันเป็นเชิงบังคับนั้น เขารับใช้เอเธนส์ในฐานะประธานสภาเมื่อปี 406 และได้แสวงหาความยุติธรรมให้กับบรรดานายพลผู้บัญชาการกองทหารเอเธนส์ในสมรภูมิอาร์กีนูซาเอ ที่ถูกฝูงชนบ้าคลั่งเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิต แต่ทว่าเขาไม่เคยมีความใฝ่ฝันในตำแหน่งสำคัญอันใด ไม่ว่าในรัฐหรือในกองทัพ ซันธิปเปเมียของเขาไม่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเขา ชีวิตของนักปรัชญาน่าสนใจทีเดียว เรารู้ว่าโสคราตีสมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เขาเป็นปราชญ์คนแรกที่ยืนอยู่ ต่อหน้าเราด้วยตนเอง เขาเป็นชายอัปลักษณ์ ตาโปน จมูกงุ้ม ริมฝีปากหนา พุงโร และร่างม่อต้อของเขาชวนให้นึกไปถึง (เจ้าป่า)* ซีเลนุส (ผู้อบรมเยงดูเทพดีโอนีซุส) หรือ (เจ้าป่า) ซาตีรุส (บริวารเทพดีโอนีซุส) เขาถูกสร้างมาให้มีสังขารเข้มแข็งอดทน ชินชากับความยากเข็ญและเย็นชา
โสคราตีสในภาพลักษณ์ของเรานั้นเป็นชายวัยกลางคน ชีวิตวัยหนุ่มของเขาเราไม่รู้จัก เขาเติบโตมาในเอเธนส์อันเกรียงไกร รุ่งเรือง สุกใสจากผลพวงของสงครามเปอร์เซียหลายครั้งหลายหน เขาอายุเกือบสี่สิบแล้วเมื่อตอนที่สงครามหายนะเปโลปอนเนเซียอุบัติขึ้น (431) ช่วงนั้นโดยแท้ที่เขากลายมาเป็นที่สนใจของสาธารณชน เอกสารชิ้นแรกสุดที่พูดถึงเขาคือ (บทละครเรื่อง) หมู่เมฆ ของอริสโตฟาเน็ส ซึ่งเขียนล้อเลียนเขา (423) เขาประสบกับความเสื่อมและความล่มจมของเอเธนส์ (405) เมื่ออายุเจ็ดสิบเขาถูกกล่าวหาว่าขาดความเคารพ (เทพเจ้า) จึงถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินประหารชีวิต เขาตายในปี 399 ด้วยการดื่มยาพิษ *ข้อความในวงเล็บจะเป็นของผู้แปล ส่วนตัวเลขในวงเล็บเป็นของผู้เขียน หมายถึงปีก่อน คริสกาลของ เหตุการณ์นั้น ๆ
2. พัฒนาการทางสติปัญญา
เขายังไม่รู้ว่าสัจจะเป็นอะไรบางอย่างที่แน่นอนและแตกต่าง แต่ทว่าเขาพร้อมอยู่ด้วยการตระหนักต่อเสียงเพรียกในตัวเขาและภารกิจอันประเสริฐ พัฒนาการทางสติปัญญาของเขาอนุมานได้อย่างเดียว เขารู้จักปรัชญาธรรมชาติของอานักซา-โกรัสและ อาร์เฆลาอุส เขาประสบกับยุคของพวกโซฟิสต์และได้เป็นนายเหนือวิธีการของคนพวกนี้ ปรัชญาทั้งหลายเหล่านี้หาได้ยังความพอใจให้กับเขา ปรัชญาธรรมชาติช่วยอะไรวิญญาณมนุษย์ไม่ได้ แน่ละ พวกโซฟิสต์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการก่อความสงสัยขึ้น แต่ทว่าในการกระทำเช่นนั้น พวกเขา ก็ได้ทำผิดไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไป หรือปฏิเสธความมีเหตุผลของจารีตประเพณีทั้งหมด ท่ามกลางกระแสความคิดตัดกันเหล่านี้ โสคราตีสก็มิได้มีลัทธิคำสอนใหม่ อีกทั้งเขาก็มิได้อ้างสิทธิเหนือกรรมวิธีที่พอเพียงอยู่ในตัวของมันเองแต่อย่างใด คงต้องมีอยู่วันหนึ่งโสคราตีสได้ก้าวมาถึงหัวเลี้ยว เมื่อตอนที่เขาเล็งเห็นว่าปรัชญาธรรมชาติ มิได้แบกรับปัญหาอันหนักอกของผู้คนนั้น เมื่อตอนที่เขาสำนึกรู้แนวโน้มความเสื่อมศีลธรรมของลัทธิ โซฟิสต์นั้น เขายังไม่รู้ว่าสัจจะเป็นอะไรบางอย่างที่แน่นอนและแตกต่าง แต่ทว่าเขาพร้อมอยู่ด้วยการตระหนักต่อเสียงเพรียกในตัวเขาและภารกิจอันประเสริฐ เขาเหมือนพวกศาสดาพยากรณ์ตรงที่แน่ใจในเสียงเพรียกนั้นไม่เหมือนตรงที่เขาไม่มีอะไรจะป่าวประกาศ ไม่ใช่พระเจ้าที่เลือกเขามาแจ้งแก่มนุษย์ถึง สิ่งที่พระองค์มีบัญชา ภารกิจของเขาคือการแสวงหาความเข้าใจในตัวเอง การซักถามไม่ลดละ ย่อมไขที่ลับให้โล่งไปหมด ไม่เรียกร้องให้ศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือต่อตัวเขา แต่เรียกร้องให้คิด ให้ถาม ให้ทดสอบ ดังนั้นจึงแนะทางให้คนไปหาตัวตนของตัวเอง แต่โดยเหตุที่ตัวตน ของคนพำนักอยู่จำเพาะในความรู้เรื่องความจริงและความดี ผู้ถือเอาการคิดอย่างจริงจังดังกล่าวแล้วเท่านั้น ผู้ตกลงใจเอาสัจจะเป็นมัคคุเทศก์แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นตัวของเขาเองได้อย่างแท้จริง
3. การสนทนา
โสคราตีทำให้คนหนุ่มสับสน บังคับให้ต้องคิด ต้องพินิจพิเคราะห์สอบถามอยู่ครั้งแล้ว ครั้งเล่า และต้องตอบโดยไม่บ่ายเบี่ยง การสนทนาแบบโสคราตีสคือความเป็นจริงพื้นฐานของชีวิตนี้ เขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ พวกช่างฝีมือ รัฐบุรุษ ศิลปิน พวกโซฟิสต์ หญิงโสเภณี เขาก็เหมือนชาวเอเธนส์จำนวนมาก ใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน ตามย่านร้านตลาด ยิมเนเซีย หรือที่งานเลี้ยงสังสรรค์ มันเป็นชีวิตของการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนทุกคน การพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะเป็นรูปแบบชีวิตเสรีของชาวเอเธนส์ แต่มาตอนนี้มันเป็นเครื่องมือการคิดปรัชญาของโสคราเต็ส มันกลายมาเป็นอะไรสักอย่างที่ต่างไป เป็น การพูดคุย แลกเปลี่ยนที่ปลุกเร้า ยั่วแหย่ ก่อให้เกิดความจับใจเหลือที่วิญญาณชั้นในสุดของคนจะขัดขืนได้ การพูดคุย การสนทนา มีความจำเป็นต่อค้นหาความจริง ด้วยว่าธรรมชาติของความจริงจะเปิดเผยต่อ คนคนคนหนึ่งก็จำเพาะในการสนทนากับคนอีกคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจอย่างเเท้จริง โสคราตีสจึงขาดคนอื่นไม่ได้ และเขาก็เชื่อว่าคนพวกนั้นขาดเขาไม่ได้ด้วย ที่สำคัญคือพวกคนหนุ่มเหล่านั้น โสคราตีสต้องการให้การศึกษา การศึกษาที่เขาหมายถึงนั้น ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน ที่ผู้รู้ปฏิบัติต่อผู้ไม่รู้ แต่เป็นสภาวะธรรมชาติที่คนสื่อสารซึ่งกันและกัน ที่คนเข้าใจได้ ในสภาวะนั้นความจริงจะเปิดเผยกับพวกเขา คนหนุ่มช่วยเขาเมื่อเขาต้องการช่วยคนหนุ่ม เขาสอนคนหนุ่มค้นหาความยุ่งยาก ในสิ่งที่ดูเหมือนปรากฏแน่ชัดอยู่แล้ว เขาทำให้คนหนุ่มสับสน บังคับให้ต้องคิด ต้องพินิจพิเคราะห์ สอบถามอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า และต้องตอบโดยไม่บ่ายเบี่ยง พวกคนหนุ่มทนสิ่งนี้ได้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าความจริงคือสิ่งที่ประสานคนเข้าด้วยกัน จากความเป็นจริงอันเป็นรากเหง่าเดิมนี้ ภายหลังความตายของโสคราตีส จึงได้เกิดมีการพัฒนากวีนิพนธ์ร้อยแก้วแห่งบทสนทนาขึ้น โดยเพลโต
โสคราตีสไม่ได้โจมตีลัทธิโซฟิสต์เสียทั้งหมด เหมือนเพลโต เขาไม่ก่อตั้งพรรค ไม่โฆษณาชวนเชื่อ ไม่แก้ตัว ไม่ก่อตั้ง สำนักหรือสถาบัน โสคราตีสไม่ได้พัฒนาโครงงานการปฏิรูปรัฐขึ้นมา ไม่ได้พัฒนาระบบความรู้ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นกับสาธารณชนหรือกับสมัชชาประชาชนเป็นการเฉพาะ “ฉันพูดกับปัจเจกชนเสมอ” เขากล่าวไว้ใน อาโพโลเกีย พร้อมอธิบายอย่างเย้ยหยันว่า เพราะไม่มีใครกล้าพูดกับฝูงชนอย่างตรงไปตรงมา จึงรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ดังนั้นเจ้าแห่งความยุติธรรมผู้รักตัวกลัวตาย สมัครใจพูดกับปัจเจกชนดีกว่า ข้อโต้แย้งนี้สามารถพิจารณาได้ในแง่ความลึกล้ำ ความไม่จริงของกิจการงานรัฐ โดยไม่คำนึงว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นอะไร ประชาธิปไตยหรืออภิชนาธิปไตยหรือทรราชย์ ไม่อาจเยียวยาได้ด้วยการทำงานใหญ่ทางการเมือง การปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นจะเป็นไปไม่ได้เลย เว้นแต่ ปัจเจกชนจะได้รับการศึกษาด้วยการให้การศึกษาตนเองเสียก่อน เว้นแต่ภาวะที่ซ่อนเร้นของเขาจะถูก ปลุกตื่นสู่ความเป็นจริง ด้วยการหยั่งรู้ที่เป็นความเข้าใจภายใน กอรปด้วยความรู้ที่เป็นคุณธรรมในขณะเดียวกัน ผู้ใดเป็นคนจริง ผู้นั้นเป็นพลเมืองแท้
นอกเหนือไปจากความสำเร็จและความเป็นประโยชน์ของโสคราตีสในรัฐแล้ว ปัจเจกชนมีความสำคัญยิ่ง ความเป็นเอกภาพอันเนื่องมาจากการเป็นนายตัวเอง เสรีภาพที่มีฐานรากจากความรู้เเท้จริง จะทำให้คนคนหนึ่งจะสามารถเผชิญหน้ากับความตายได้
4. แก่นสารชีวิตของโสคราเต็ส
โสคราตีสไม่ได้ส่งมอบปัญญา หากแต่ทำให้คนอื่นค้นหาในสิ่งที่คิดว่าเขารู้ โสคราตีสทำให้เขาสำนึกรู้ความไม่รู้ของตัวของเขาเอง ถ้าปรัชญาเป็น “ลัทธิคำสอน” โสคราตีสไม่ใช่นักปรัชญา ถ้าประวัติศาสตร์ของปรัชญากรีกถูกถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีสถานะในทางทฤษฎี ไม่มีที่สำหรับโสคราตีสในนั้น นัยสำคัญของวิธีการเข้าสู่ปัญหาของโสคราตีสอยู่ตรงที่เราต้องรู้จักความไม่รู้ของเราแล้วลงเรือล่องความคิด โสคราตีสรู้เส้นพรมแดนที่การสนทนายุติ การซักไซ้ไล่เรียงที่สัจจธรรมหยั่งรากลึก สิ่งนี้ คือที่สัจธรรมตั้งมั่นและเจิดจ้าอยู่
ความเชื่อเเรก ของโสคราตีส ความรู้ความเข้าใจจะมีขึ้นถ้าเราพากเพียรในการซักถามอาศัยการยอมรับในสิ่งที่เรายังไม่รู้ เราย่อมจะเข้าถึง ความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต อย่างที่สอง ความเชื่อที่โสคราตีสมีต่อเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนครรัฐ อย่างที่สาม ความวางใจที่เขามีต่อเทพประจำตัวเขา ก. ขณะถกปัญหาคุณธรรมกับโสคราเต็ส เมโน (ในบทสนทนาของปลาโต้) ก็ถูกขับต้อนจนมุมด้วยคำถามของโสคราเต็ส “แม้ก่อนหน้าจะได้พบกับท่าน” เมโนพูด “พวกเขาก็ได้บอกข้าพเจ้ามาแล้วด้วยความสัตย์จริงว่าท่านมักเป็นคนขี้สงสัย พลอยทำให้คนอื่นมึนงงไปด้วย มาตอนนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านกำลังใช้เวทมนตร์และคาถาสะกดให้ข้าพเจ้าตกอยู่ใต้อำนาจของท่าน กลายเป็นแค่ก้อนเนื้อไร้ประโยชน์ก้อนหนึ่งเท่านั้น ถ้าข้าพเจ้าบังอาจแหย่ ท่านที่เปรียบเหมือนปลากระเบนชายธงที่พบในท้องทะเล ใครไปต้องตัวมันเข้า มันก็จะเล่นงานเอาจนมึนงง เเละถ้าท่านเป็นคนต่างถิ่น เเต่ประพฤติตัวเยี่ยงนี้ ท่านจะถูกจับกุมตัวอย่างไม่ต้องสงสัย โทษฐานเป็นหมอเวทมนตร์คาถา” ฝ่ายโสคราตีส : “ถ้าปลากระเบนชายธงทำความมึนชาให้ผู้อื่นเพียงเพราะมันทำให้ตัวเองมึนชาแล้วละก็ ความหมาย ของการเปรียบเทียบอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ในความหมายอื่น ข้าพเจ้าทำให้ผู้อื่นมึนงงไม่ใช่เพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว ความจริงมีอยู่ว่าข้าพเจ้าเพาะเชื้อให้พวกเขา ข้าพเจ้าเองรู้สึกมึนงงด้วย” ในสภาพจิตอย่างเดียวกัน เธเอเตตุสพูดว่าเขาเวียนหัว โสคราเต็สตอบว่านี้เป็นการเริ่มต้นปรัชญา
จากความมึนงงเติบโตเป็นการหยั่งรู้ ใน เมโน เรื่องนี้ถูกแสดงออกในรูปของนิทาน เปรียบเทียบ : ทาสคนหนึ่งทีแรกถือดีว่าตนรู้คำตอบปัญหาคณิตศาสตร์ ต่อมาพบอุปสรรคเข้าจึงได้สำนึกรู้ความโง่เขลาของตน กว่าเขาจะมาถึงทางออกที่ถูกต้องได้ต้องใช้เวลานานผ่านคำถามมากมาย ตาม ตัวอย่างที่แสดงนี้ ความจริงมาหาเราในรูปการสนทนา ความจริงยังไม่เป็นที่ล่วงรู้แก่คู่สนทนา แต่ความจริงอยู่ที่นั่น คนทั้งคู่วนเวียนอยู่รอบ ๆ โดยมีความจริงเป็นมัคคุเทศก์
โสคราตีส ต้องการช่วยตั้งต้นให้คนออกแสวงหา แต่ในการแสวงหาโสคราตีสต้องการให้ พวกเขามั่นใจการค้นหา เขาเปรียบ (เธเอเตตุส) กิจกรรมนี้ของเขากับศิลปะของหมอตำแย เธเอเตตุสไม่รู้ คำตอบ เขาคิดว่าตัวเองหาคำตอบไม่ได้แน่ “กระนั้น” เขาพูด “ข้าพเจ้าสลัดคามปรารถนาทิ้งไปไม่ได้ “ท่านเจ็บท้องคลอดบุตร” โสคราเต็สพูด “ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีอะไร หากพร้อมแล้วจะให้กำเนิด” โสคราตีสพรรณนาวิธีการพูดของเขากับคนหนุ่มต่อไป ไม่ต่างกับหมอตำแย เขาสอบให้แน่เสียก่อนว่ามีการตั้งครรภ์จริงหรือไม่ กรรมวิธีของเขามีทั้งปลุกและปลอบ เขารู้จักจำแนกการเกิดแท้การเกิดเทียม ตัวเขาเองเขายอมรับว่าเป็นหมัน พวกที่กล่าวหาว่าโสคราตีสเอาแต่เที่ยวซักถามจึงชอบแล้ว เพราะ “เทพบังคับให้ข้าพเจ้าเป็นหมอตำแย แต่ไม่อนุญาตข้าพเจ้าให้กำเนิด” พวกที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขาทีแรกดูเหมือนยิ่งพูดยิ่งโง่ แต่นั่นเพราะพวกเขาหลุดพ้นจากความรู้เทียม ดังนั้น “ถ้าเทพเมตตาพวกเขาแล้ว พวกเขาย่อมก้าวหน้า น่าพิศวงกันได้ทุกคน เห็นชัดทีเดียวว่าพวกเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรจากข้าพเจ้าเลย แต่สำหรับข้าพเจ้าและเทพแล้ว พวกเขาเป็นหนี้การคลอดของตัวเอง”
โสคราตีสไม่ได้ส่งมอบปัญญา หากแต่ทำให้คนอื่นต้องค้นหา คนอื่นคิดว่ารู้ แต่ โสคราตีสทำให้เขาสำนึกรู้ความไม่รู้ของเขา ดังนั้นจึงพาเขาไปพบความรู้แท้ในตัวเอง จากความลึกล้ำ ชายผู้นี้ก็ได้ค้นพบสิ่งที่เขาเคยรู้แล้วขึ้นมา โดยความไม่รู้ว่าตนรู้ นี้หมายความว่า แต่ละคนต้องค้นหาความรู้ในตัวเอง ความรู้ความเข้าใจไม่ใช่วัตถุซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ สามารถปลุกให้ตื่นขึ้นมาได้อย่างเดียว ตอนที่ความเข้าใจปรากฏขึ้น มันเหมือนการรำลึกอะไรสักอย่างที่รู้นานมาแล้ว และนื่คือสาเหตุที่ทำไมฉันจึงแสวงหาปรัชญาได้ทั้งที่ไม่รู้ พวกโซฟิสต์คนหนึ่งกล่าวว่า : ฉันแสวงหาได้แต่สิ่งที่ฉันรู้ ถ้าฉันรู้ฉันไม่ต้องแสวงหา ถ้าฉันไม่รู้ฉันแสวงหาไม่ได้ อย่างไรก็ดีในทัศนะของโสคราเต็สการคิดปรัชญาเป็นการแสวงหาสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว แต่ฉันรู้โดยจิตไร้สำนึก ประหนึ่งว่าความทรงจำลางเลือนแต่โบราณ มาบัดนี้ฉันใคร่รู้มันในแสงบรรเจิดของจิตสำนึกของฉัน การตั้งคำถาม การพิสูจน์หักล้าง การทดสอบของโสคราตีสย่อมได้รับการค้ำจุนอยู่ด้วยความวางใจฉันใด คนด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้าย่อมจะบรรลุถึงความจริงด้วยความคิด ไม่ใช่ความคิดเหลวไหลในถ้อยคำ หากแต่ความคิดเปี่ยมด้วยความหมายจากเเหล่งกำเนิดต่างหาก จึงเป็นความเชื่อถือได้ด้วยเหตุนี้ ข. โสคราเต็สเชื่อในบรรดาทวยเทพตามขนบความเชื่อที่สืบเนื่องมา เขาบูชาเทพเหล่านั้น เชื่อฟังเทวโองการเดลฟี เข้าร่วมงานนักขัตฤกษ์ ศาสนานี้ที่บอกชาวกรีกไม่ให้ทำอะไร ไม่ให้ปรารถนาใน สิ่งใด ความปรารถนาและความคิดทั้งปวงสืบสาวเอาความหมายมาจากมัน ศาสนานี้สามารถทำให้เจือจางลงได้ หรือทำให้จับต้องแทบไม่ได้เลยก็ได้ และนี้ก็คือสิ่งที่พวกโซฟิสต์หลายคนได้กระทำกัน หรือไม่เช่นนั้นเราก็มีชีวิตอยู่ในศาสนานี้ ปฏิบัติกิจศาสนาด้วยความเคารพสักการะ ค้นหาฐานรากในศาสนานี้ ปราศจากศาสนาทุกสิ่งย่อมไร้ฐานราก และนี้ก็เป็นสิ่งที่โสคราตีสได้กระทำลงไป ด้วยเหตุนี้โสคราตีสจึงมีชีวิตอยู่ด้วย “ความเชื่อ” อันสง่า มีสำนึกในตัว มีชีวิตอยู่ในความชัดเจนในตัว
โสคราตีสผูกพันอย่างแยกไม่ออกจากรัฐบ้านเกิดเมืองนอนของเขา รัฐของโสลอน สงครามเปอร์เซีย เปรีเคล็ส* มันเป็นรัฐที่สร้างขึ้นมาบนกฎหมาย สถาปนาขึ้นแต่เมื่อครั้งสมัยเก่าแก่จนจดจำไม่ได้ *Solon เป็นหนึ่งในเจ็ดปราชญ์กรีกผู้ตรากฎหมายให้นครรัฐเอเธนส์ ส่วน Pericles เป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย สมัยที่เขาปกครองเอเธนส์กลับมาเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน เขาเป็นนักแสดงสุนทรพจน์ เป็นนายพลและรัฐบุรุษ ผู้แปลไทยแล้ว และได้รับการต่อเติมเสริมแต่งอยู่สืบมา ปราศจากกฎหมายชีวิตเป็นสิ่งนึกคิดไม่ได้ นี้เป็นคำอธิบายต่อความเคารพเชื่อฟังกฎหมายของโสคราตีส ในการไต่สวนคดีหลังเหตุการณ์สู้รบ ที่อาร์กีนูซาเอ เขาปฏิเสธที่จะให้คำตัดสินของคณะลูกขุนได้เป็นมติ เพราะภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่เวลานั้น วิธีการดำเนินการดังกล่าวเป็นการผิดต่อกฎหมาย เขาปฏิเสธที่จะหลบหนีจากที่คุมขัง ปฏิเสธการทำลายกฎหมายที่ยังคงสมเหตุผล ในฐานะของกฎหมายอยู่ ถึงแม้มันจะรับใช้เค้าโครงความอยุติธรรมก็ตาม จะไม่มีสิ่งใดมาแปรเปลี่ยน ทัศนคติอันนี้ได้เลย พวกทรราชย์คณะสามสิบสั่งห้ามไม่ให้เขาทำการสอน พวกประชาธิปไตยกลับมอบความตายให้กับเขา เขาไม่ขึ้นสังกัดกับพรรคกับคณะใด หากมียึดมั่นไม่หันเหต่อมโนคติเรื่องกฎหมายตามรูปแบบประวัติศาสตร์ของนครรัฐเอเธนส์ มันเหลือที่จะคิดที่โสคราตีสผู้พูดก็แต่กับปัจเจกชนผู้ถือเอาความรับผิดชอบส่วนบุคคลเป็นความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ผู้ทำให้ทุกสิ่งจำเป็นต้องตรวจสอบต้องวิจารณ์ จะใช้รัฐเป็นเครื่องมือสนองความทะเยอทะยานส่วนตัว เหมือนกับกรณีของอัลซีบีอาเต็ส มีไม่น้อยจับอาวุธขึ้นต่อต้านบ้านเกิดเมืองนอนของตน เขาไม่มีความประสงค์ที่จะเป็นพลเมืองโลกที่ไม่มีรากเหง้า เรื่องการอพยพไปอยู่ที่อื่นย่อมจะไม่เกิดขึ้นกับเขาเป็นอันขาด เหมือนกับกรณีของเอ็สฆีลุสอพยพไปอยู่ซิซีลีหรือเอ็วรีบีเด็สอพยพไปอยู่ที่มาเคโดนีอา ผู้เฒ่าเหล่านี้ชื่นชมกับประเทศชาติของตน เขารู้มากไปกว่า คำถามที่ว่าการมีอยู่ของเขาแยกไม่ออกจากเอเธนส์ใน อาโปโลจี ของปลาโต้ เมื่อโสคราเต็สได้รับข้อเสนอให้เลือกเอาระหว่างการลี้ภัยกับความตาย เขาเลือกเอาความตาย : “ชีวิตที่ดีที่น่าจะเป็นสำหรับข้าพเจ้า คนอายุปูนนี้ ต้องทิ้งถิ่นฐานประเทศของตัวเองออกระเหเร่ร่อนจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งตลอดเวลา ที่เหลืออยู่ของชีวิต (อย่างนั้นหรือ ผู้แปลไทย)” ใน ครีโต(crito) โสคราตีสวาดจินตนาการว่ากฎหมายได้มา ซักถามเขาและท่าทีที่เขามีต่อกฎหมายก็ได้เผยออกมาในช่วงนี้ : ขอบคุณกฎหมายที่เขาเกิดมาได้สมรสภายใต้กฎหมาย ได้เป็นพลเมืองเอเธนส์ บิดาจึงสามารถให้การอบรมเลี้ยงดูเขาได้ โสคารตีสชี้ให้เห็นการค้ำจุนกฎหมายด้วยการปฏิเสธที่จะทิ้งเอเธนส์ไป ด้วยการเลือกเอาความตาย แทนการเนรเทศ โสคราตีสไม่ได้ ตีตนเสมอกฎหมาย หากแต่รับรองพันธะที่ตนจะต้องเชื่อฟังกฎหมาย เขาต้องยอมรับคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเขา ดุจเดียวกับพลเมืองต้องกระทำตามคำสั่ง ให้ออกสู่แนวหน้าโดยไม่บิดพริ้ว เขาไม่มีสิทธิชูมือขึ้นต่อต้านประเทศ มากไปกว่าต่อต้านพ่อแม่ ถึงแม้เขาจะเชื่อว่า เขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม
สิ่งนี้แยกโสคราเต็สออกมาจากพวกโซฟิสต์ แม้ว่าการซักถามเชิงวิจารณ์แบบไม่ปรานีของเขาอาจจะทำให้เขาดูเหมือนเป็นคนหนึ่งในหมู่พวกโซฟิสต์ เขาก็ไม่เคยหนีไปจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ของเขาเลย กลับสำนึกรู้กฎหมายของนครรัฐอย่างน่าเลื่อมใส สิ่งน่าจดจำและคือลักษณะพิเศษในตัวโสคราตีส : เขานำการวิพากษ์ของเขาไปถึงเเก่นเเท้ เเต่ไม่เคยยุติการสำนึกรู้โองการสัมบูรณ์ ที่อาจเรียกได้ว่าสัจจะ ความดี หรือเหตุผล สำหรับเขาแล้วโองการนี้เป็นเครื่องเเสดงถึงความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อใคร ? เขาไม่รู้ แต่เขาพูดถึงบรรดา ทวยเทพ อะไรที่อาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง ย่อมจะยืนหยัดมั่นคงอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้คือประเด็นที่เขาเน้น แต่ครั้นเมื่อความชั่วร้ายบังเกิดขึ้นแก่เขา เมื่อความอยุติธรรมเล่นงาน เมื่อนครรัฐทำลายเขาเสียเอง โสคราตีสมีชีวิตอยู่ด้วยคติพจน์ข้อที่ว่าทนทุกข์ดีกว่าก่ออธรรม โสคราตีสไม่รู้จักการขบถรัฐ ขบถโลกและขบถพระเจ้า เขาไม่สืบสาวลงไปถึงบ่อเกิดแห่งความชั่วร้าย ประหนึ่งว่าพระเจ้าได้ให้เหตุผลเอาไว้แล้ว เขาไม่รู้จักความสิ้นหวังที่เกิดจากปัญหาความยุติธรรมสูงส่ง ไม่รู้จักคำตอบที่ยังความพอใจให้กับ คำถาม หากแต่เอาความสงบใจไม่ไหวหวั่นออกมาจากความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัว ไม่ว่าผลแห่งโชคชะตาปรากฏให้เห็นในโลกอย่างไร สิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่สำคัญ : การมีชีวิตอยู่ตามปทัฎฐานของความจริง ชี้ให้เห็นได้ชัดในความคิด ค. สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรมหาเสมอเหมือนมิได้ ในทัศนะของโสคราตีสนั้น ไม่สามารถใช้เหตุผลตัดสินได้เสมอไป ทวยเทพทั้งหลายได้ให้ความช่วยเหลือเรา ความช่วยเหลือนี้มีขอบเขตนอกเหนือนั้นมีได้เพียงเชื่อฟัง ไม่จำเป็นต้องเข้าใจ โสคราตีสเล่าเรื่องเทพประจำตัวที่มาพูดกับเขาในห้วงเวลาสำคัญสมัยเมื่อครั้งเขายังเด็กเสียงนี้ “…มักห้ามแต่ไม่บังคับว่าข้าพเจ้าจะต้องไม่กระทำอย่างนั้นอย่างนี้” ยกตัวอย่าง เสียงนี้กล่าวไม่ทุกเมื่อที่เขาคิดจะก้าวเข้าสู่ชีวิตทางการเมือง เมื่อลูกศิษย์ที่ละ จากเขาไปต้องการกลับมาหาเขา เทพประจำตัวก็แสดงการคัดค้านเป็นการเฉพาะราย ไม่ทุกราย ระหว่างการไต่สวนคดีความเขา เสียงนี้เงียบ เขาจึงพบว่ามันแปลกและทำให้เขาเกิดมีกำลังใจขึ้นมา “เมื่อเร็ว ๆ นี้ อานุภาพแห่งจิตสูงส่ง…ก็ยังคงคัดค้านข้าพเจ้าอยู่สม่ำเสมอหากข้าพเจ้าจะทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดพลั้งพลาดหรือเลอะเลือนแม้เป็นแต่เรื่องไม่สลักสำคัญอะไร และเวลานี้ท่านย่อมเห็นอยู่แล้วว่ามีสิ่งเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าที่อาจคิดได้ว่าเป็น…ความชั่วครั้งสุดท้ายที่เลวร้ายยิ่งนัก (คำพิพากษาให้ประหารชีวิต) แต่เสียงแห่งเทวะ ไม่ได้แสดงอาการคัดค้านแต่อย่างใด ไม่ว่าข้าพเจ้าออกจากบ้านในเวลาเช้า หรือเมื่อระหว่างข้าพเจ้า เดินทางมาศาล หรือเมื่อข้าพเจ้ากำลังพูดอยู่นี้…อาณัติสัญญาณที่เคยเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำย่อมจะ ขัดขวางข้าพเจ้าอย่างแน่นอน หากข้าพเจ้ากำลังจะไปสู่ความชั่ว ไม่ไปหาความดี” (อาโปโลจี) “ก่อนหน้าข้าพเจ้า” โสคราตีสพูด “ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะเคยมีใครได้รับความกรุณาด้วยเสียงเตือนทำนองเดียวกันนี้หรือไม่” เสียงมิได้นำความรู้มา มิได้แนะให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเฉพาะเจาะจง เพียงแต่พูดว่าอย่า มันห้ามไม่ให้เขาพูดหรือทำอะไรที่จะมีผลชั่วร้ายตามมาในภายหลัง และโสคราตีสเชื่อฟัง ข้อห้ามพวกนั้นโดยไม่ไปพยายามทำความเข้าใจมัน มันไม่ใช่โองการมีจริงภายนอกความคิด แต่เป็นความที่ไม่อาจสื่อสารกันได้ มันใช้ได้ก็แต่กับการกระทำของตัวโสคราตีสเอง
5. การพิจารณาคดีความ
ชีวิตของโสคราเต็สไม่ใช่ละคร ยกเว้นตอนจบ เขาตายโดยไม่ท้าทายหรือตัดพ้อ “ข้าพเจ้า ไม่โกรธผู้ตัดสินประหารชีวิตข้าพเจ้า หรือผู้ฟ้องร้องกล่าวหาข้าพเจ้า” ชีวิตของโสคราเต็สไม่ใช่ละคร ยกเว้นตอนจบ การพิจารณาความคดีหมิ่นเทพเจ้าของเขาจบลงด้วยคำพิพากษาให้ประหารชีวิตผลที่ออกมานี้มิใช่เรื่องบังเอิญ ประวัติศาสตร์อันยาวนานนำไปสู่ผลใน (บทละครเรื่อง) หมู่เมฆ (Clouds, 423) อริสโตฟาเน็สวาดพรรณนาตัวโสคราตีสว่าเป็นผู้ผูกมัดตนกับปรัชญาธรรมชาติ สาละวนอยู่กับปรากฏการณ์บนฟ้าสูงและสิ่งเบื้องล่างใต้โลก ปฏิเสธบรรดาทวยเทพ ตามขนบความเชื่อที่สืบเนื่องมานาน เพราะเขาเอาอากาศและหมู่เมฆมาแทนที่ สอนศิลปะการอ้างเหตุผลแม้ผิด ๆ และเรียกเงินเป็นค่าสอน-ตรงกันข้ามโดยแท้ทีเดียวกับโสคราเต็สที่เรารู้จัก นับจากนั้นก็มี ข้อกล่าวหาใหม่ ๆ เกิดขึ้น เขาถูกฟ้องว่าสอนคนหนุ่มให้เกียจคร้านวางหลักคำสอนที่ผิดศีลธรรมจากการ ตีความบทกวี ในจำนวนลูกศิษย์ของเขาก็มีศัตรูของประชาชนอย่างอัลคีบีดีสและไครเทียสรวมอยู่ด้วย อะไรทำให้ภาพผิด ๆ น่าพิศวงนี้เกิดขึ้น? สมัยเมื่อเขายังหนุ่ม แน่ละโสคราตีสสาละวนอยู่กับปรัชญาธรรมชาติและลัทธิโซฟิสต์ แต่เหนืออื่นใดทั้งหมดเขาถูกมองว่าเป็นตัวแทนขบวนการปรัชญาใหม่ ทั้งขบวนที่ถูกต่อต้านจากมติมหาชน ประชาชนสับสนเอาคนที่เหนือพ้นลัทธิโซฟิสต์แล้วไปปะปนกับตัวลัทธิโซฟิสต์เอง เพราะกรรมวิธีการใหม่ที่พวกเขาปฏิเสธนั้นมันเหลือจะทน โสคราตีสถามไม่หยุดหย่อน เขาต้อนผู้ฟังของเขาเข้าสู่ปัญหาพื้นฐานของคน แต่ไม่เฉลย ความสับสนคือความสำนึกของผู้ด้อยกว่า และข้อเรียกร้องที่เขาสร้างขึ้นนั้นก่อให้เกิดความโกรธและความเกลียดขึ้นมา ปฏิกิริยาดังกล่าวอันหนึ่งนั้นเป็นของอิปเปียส : เพราะท่าน “เยาะเย้ยผู้อื่น ซักถามและตรวจสอบคนทุกคนไม่เคยตั้งใจแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองบ้าง หรือแถลงความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่เคยมีเลย” (เซโนฟ็อน) และดังนั้นในปี 399 โสคราเต็สจึงถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา “ละเมิดกฎหมาย เพราะเขาไม่เชื่อในเทพเจ้าทั้งหลายของประเทศของเรา ประกอบกิจศรัทธาความเชื่อในปิศาจตนใหม่ และชักนำคนหนุ่มหลงทาง” ดูเหมือนโสคราตีสไม่นำพาข้อกล่าวหาเหล่านี้ตลอดเวลาหลายปี ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นไม่มีวรรณกรรมมาปกป้องปรัชญาเขา ตัวเขาเองไม่เคยเขียนสักบรรทัด เขาไม่เคยถอนตนสู่ความสันโดษแบบคนชั้นสูง ทั้งไม่จำกัดคำสอนของเขาไว้ในแวดวงที่เลือกสรรแล้ว หากแต่สอนอยู่ตามข้างถนนและย่านร้านตลาดต่อหน้าสาธารณชน โสคราตีสพูด และนี้เป็นประเด็นหลักในการป้องกันตนเองว่า พระเจ้าสั่งให้เขาใช้ชีวิตไปกับการค้นหาตนเองและผู้อื่น “ข้าพเจ้าจะเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังท่าน และขณะที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจและแข็งแรงอยู่ ข้าพเจ้าจะไม่เลิกการขบคิดปรัชญา จะไม่เลิกเคี่ยวเข็ญคนที่ข้าพเจ้าพบ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ข้าพเจ้าจะกล่าวแก่เขาตามแบบของข้าพเจ้า : ท่านผู้เป็นสหายของข้าพเจ้า…ท่านไม่ละอายใจบ้างหรือ…สนใจปัญญา เอาใจใส่สัจจะและการทำความดีให้เกิดในวิญญานแม้เพียงสักเล็กน้อยท่านก็ ไม่เคยเหลียวแลหรือนึกถึงมันเลย ?” แล้วการป้องกันตนเองก็กลับเป็นการโจมตีพวกผู้พิพากษา “เพราะถ้าพวกท่านฆ่าข้าพเจ้า” เขาประกาศ “พวกท่านจะค้นพบคนอย่างข้าพเจ้าไม่ได้ง่าย ๆ ถ้าให้ข้าพเจ้าเปรียบเปรยซึ่งน่าหัวเราะ คนแบบข้าพเจ้าคือตัวเหลือบที่พระเจ้าประทานมาให้กับเมือง…เกาะติดพวกท่านเสมอ ปลุกเร้าชักชวนและตำหนิพวกท่าน… (แต่) พวกท่านอาจรู้สึกโมโหฉุนเฉียวคล้ายคนที่ถูกปลุกให้ตื่นจากหลับในทันที และอยากทุบตีข้าพเจ้าให้ตายในทันใด…จากนั้นจึงล้มตัวลงหลับไปตลอดชีวิตที่เหลือของพวกท่าน” ความตายของเขามากกว่าอย่างอื่นที่ สลักเสลาจินตภาพของโสคราตีส ที่ล่วงเข้าไปในขนบจารีต เขาเป็นคนยอมตายเพื่อปรัชญา เป็นเหยื่อตุลาการฆาตกรรมในอุ้งมือของประชาธิปไตยเอเธนส์ แต่คนบางคนมีคำถามกับการประณามการตัดสินความเขาครั้งนี้ คำโต้แย้งของพวกเขาโดยคร่าว ๆ เป็นดังนี้ : โสคราตีสอาจเอาชีวิตรอดได้โดยง่าย ด้วยการขอใช้สิทธิป้องกันตนเอง เขาหมิ่นคำพิพากษาก็ด้วยความ ถือดีท้าทายอำนาจของมนุษย์ เขาได้รับข้อเสนอที่เป็นทางออกอยู่จำนวนหนึ่ง แต่กลับไม่ฉวยใช้ประโยชน์เอง เขาอาจเลี่ยงโทษประหารได้โดยง่ายเพียงหลบหนีไปเท่านั้น เขาปฏิเสธที่จะสร้างสันติกับธรรมนูญที่ ไม่ได้จารึกของชุมชน เขาจงใจเป็นเหตุแห่งความตายของตน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่ตุลาการฆาตกรรม แต่เป็นตุลาการอัตวินิบาตกรรม บรรดาผู้มีความเห็นดังกล่าว ผู้ถือว่าไม่ใช่ฆาตกรรมแต่เหยื่อต่างหากที่รู้สึกผิดย่อมพลาดไม่เข้าใจว่าภารกิจอันประเสริฐของเขา ในการทำงานเพื่อสัจจะต่างหาก ที่ห้ามโสคราเต็สไม่ให้หลวมตัวยอมรับเเละหลบหนี โสคราตีสยอมพลีชีพเพื่อยืนยันในสัจจะ เขาเป็นพยาน ข้อโต้แย้งบทตั้งตุลาการฆาตกรรมเหล่านี้มีประโยชน์สำหรับคำพิพากษาของเราที่มีไม่ใช่ต่อโสคราตีส หากแต่ต่อผู้อ่านเรื่องราวของโสคราตีส การป้องกันตัวของเขาก็เหมือนกับทุกสิ่งที่โสคราตีสทำลงไป มันอันตรายต่อการทำความเข้าใจของเรา สมเหตุสมผลต่อเมื่อเชื่อมเข้ากับปรัชญาของเขา พิจารณาในแง่นามธรรม มันสอนให้ผู้อ่านมีท่าทีผิด ๆ ขบถหัวอื้อ เป็นการทำให้ศีลธรรมดีขึ้นแบบผิด ๆ แทนที่จะก้าวเข้าไปสู่ภาวะจิตใจพื้นฐานของโสคราตีส ตัวของผู้อ่านนั้นเองจะกลายเป็นคนอวดเด่นถือดี โดยการมองแบบไม่ตั้งใจว่าโสคราตีสเป็นคนอวดดี มีความสุขจากการที่ ดูหมิ่นประชาชนและผู้พิพากษา
โสคราตีสเท่านั้นที่จะสามารถสมานตัวเราเข้ากับความตายของเขาได้ เขาตายโดยไม่ท้าทายหรือตัดพ้อ “ข้าพเจ้าไม่โกรธผู้ตัดสินประหารชีวิตข้าพเจ้า หรือผู้ฟ้องร้องกล่าวหาข้าพเจ้า” นี้เป็นวาทะสุดท้ายของเขา เขาเชื่อมั่นว่าสำหรับคนดีแล้วย่อมจะไม่มีความชั่ว มูลเหตุอันนี้ของเขาจะไม่ถูกทวยเทพทอดทิ้ง ปัจฉิมวาทะของโสคราตีสนั้นคือ : “ข้าพเจ้าขอบอกแก่พวกท่าน คนที่ฆ่าข้าพเจ้าว่า หลังการจากไปของข้าพเจ้าแล้ว โดยทันทีโทษทัณฑ์…จะตกแก่พวกท่าน…จะมีผู้ฟ้องร้องกล่าวหาพวกท่านมากกว่าที่มีอยู่เวลานี้ แต่ก่อนข้าพเจ้าได้เหนี่ยวรั้งพวกเขาเอาไว้ พวกเขาจะไม่เกรงอกเกรงใจพวกท่าน อีกต่อไป พวกเขาจะทำกับพวกท่านยิ่งกว่าข้าพเจ้า เพราะพวกเขายังหนุ่ม หากพวกท่านคิดว่าการฆ่าคนสามารถทำให้พวกท่านป้องกันคนบางคนไม่ให้มาตรวจสอบชีวิตชั่วร้ายของพวกท่านได้แล้ว พวกท่าน เข้าใจผิด

**คาลร์ จัสเปอร์ (Carl Jasper 1881-1965) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เเละจิตเเพทย์ มีบทบาทในกลุ่มเเนวคิด อัตถิภาวะนิยม( Existentialism) เเละ ปรากฎการณ์การนิยม (Phenomenology)