1. Socrates
ก่อนจะรู้และเข้าใจเพลโตต้องเข้าใจโสเครติสก่อน โสคราตีส นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่ โสคราตีส ไม่มีผลงานการเขียนทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา โสคราตีสไม่ได้สอนปรัชญา สิ่งที่โสคราตีสปฎิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน คือ ค้นหาความจริงร่วมกับคนอื่นๆ สิ่งเดียวที่โสคราตีสยืนยันคือ ความไม่รู้ของตัวเขาเอง โสคราตีสแปลกไปจากนักคิดคนอื่นๆ คือไม่เริ่มจากความรู้ โสคราตีสไม่ใด้เป็นส่วนหนึ่งของระบบปรัชญาและไม่ได้สร้างระบบปรัชญาใดขึ้นมา สิ่งเดียวที่โสคราตีสค้นหาคือ ความจริงเกี่ยวกับตัวของเขาเอง โสคราตีสมีชีวิต ใช้ชีวิตเพื่อการค้นหาความจริง อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการศึกษาสูง โสคราตีสสนใจอยากเรียนเรื่องการใช้ภาษากับโปรดิคุส แต่จ่ายค่าสอนได้เพียงคอร์สเล็กๆ โสคราตีสเริ่มอาชีพด้วยการเป็นช่างแกะสลัก เล่ากันว่ามีงานของโสคราตีสอยู่ที่อโครโปลิส โสคราตีสเป็นคนหนุ่มที่มีแววดี มีความฉลาดเฉลียว ไครโตเป็นคนค้นพบว่า โสคราตีสมีวี่แววว่าจะเป็นนักปรัชญาที่ดี จึงให้คำแนะนำโสคราตีสว่า น่าจะศึกษาปรัชญา เดิมทีเดียวโสคราตีสสนใจการศึกษาปรัชญาธรรมชาติ แต่คำตอบของปรัชญาธรรมชาติในยุคกรีกโบราณ ไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่โสคราตีสได้ เนื่องจากวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ แม้ประเด็นคำถามจะน่าสนใจ แต่คำตอบยังขาดความชัดเจน การศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในยุคโบราณ อยู่ในระดับของสมมุติฐานเท่านั้น ไม่มีห้องทดลองที่จะสร้างโมเดล เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นโสคราตีสจึงหันเหความสนใจมาที่การศึกษาจริยศาสตร์ โดยเฉพาะการค้นหาความรู้เกี่ยวกับตัวเอง ที่โสคราตีสใด้รับแรงบันดาลใจ จากข้อความที่ปรากฎที่วิหารเดลฟี ว่า จงรู้จักตนเอง ตลอดชีวิตโสคราตีสค้นหาความหมายของข้อความนี้ โสคราตีสถูกพิพากษาโดยประชาชนชาวเอเธนส์ ให้ดื่มยาพิษ ที่มีชื่อเรียกว่า Hemlock โสคราตีสถูกพิพากษาโดยประชาชนชาวเอเธนส์ ด้วยข้อหาว่า ไม่เคารพต่อเทพเจ้าของรัฐ ขาดศรัทธาต่อเทพเจ้า วิธีการนำเสนอปรัชญาแบบโสคราตีส ทำให้คนหนุ่มมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี สร้าง ระบบความคิดใหม่ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อรัฐ ( กระแสแนวคิดใหม่ๆ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ปกครองแม้ในสมัยปัจจุบัน ) กรณีของโสคราตีสกลายเป็นกรณีศึกษา ประชาชนชาวเอเธนส์ทำร้ายนักปรัชญาผู้บริสุทธ์ ชาวเอเธนส์ไม่สามารถสร้างขันติธรรมต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และการใช้อำนาจทำร้าย บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีแนวคิดที่แตกต่าง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คนในสังคมขาดวิจารณญาน มีการตัดสินผิดพลาด สิ่งนี้คือข้อจำกัดของมนุษย์ โสคราตีสไม่กลัวตายและไม่หนี เขายอมรับคำพิพากษาโดยดุษฎี โสคราตีสเคารพกฎหมาย และท่าทีของเขาปรากฎในงานของเพลโตเรื่อง อพอลโลจี ( Apology ) โสคราตีสยอมรับพันธะที่จะต้องเชื่อฟังกฎหมาย เขายอมรับคำพิพากษา ดุจเดียวกับพลเมืองต้องกระทำตามคำสั่ง ให้ออกสู่แนวหน้า โสคราตีสคิดว่า เขาไม่มีสิทธิชูมือคัดค้านประเทศหรือพ่อแม่ของตนเอง ถึงแม้จะเชื่อว่าการปฎิบัติที่ได้รับไม่เป็นธรรม
โสคราตีสในวัยหนุ่ม ไม่ปรากฎรายละเอียดของชีวิตของเขามากนัก ทราบจากหลักฐานในงานของนักปรัชญาร่วมสมัยกับโสคราตีส เช่น เซโนฟอน เพลโต ดีมีทรีอุสแห่งพาลีรอน อริสโตเซนุส จักรพรรดิจูเลียน ทำให้พอจะเห็นภาพโสคราตีสว่าเป็นใคร มีประวัติชีวิตความเป็นมาอย่างไร บิดาของโสคราตีส ปรากฎหลักฐานว่ามีอาชีพช่างแกะสลัก บางหลักฐานว่ามีอาชีพเป็นช่างเรียงหิน มารดามีอาชีพเป็นหมอตำแย โสคราตีสแต่งงานสองครั้ง ครั้งแรกกับมีร์โต ลูกสาวของอริสทีดีส มีอาชีพเป็นผู้พิพากษา ภรรยาคนแรกของโสคราตีสเสียชีวิตด้วยโรคระบาด โซคราตีสแต่งงานอีกครั้งกับซานทิปปี ตามกฏหมายของเอเธนส์ ผู้ชายมีหน้าที่ทางสังคมที่จะต้องเพิ่มพลเมืองให้กับรัฐ เมื่อมีอายุถึงวัยอันสมควร รัฐจะจัดหาสตรีที่เหมาะสมให้ สังคมกรีกโบราณเป็นสังคมที่วงจรชีวิตของมนุษย์ไม่ยืนยาว สงครามเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ผู้หญิงจะเสียชีวิตจากการคลอดบุตรและโรคภัยไข้เจ็บ การแต่งงานของโสคราตีสครั้งที่สอง อาจจะเกิดจากรัฐดำเนินการให้ โสคราตีสได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญในการรบ ในสงครามเปโลปอนนีเซียน เข้าประจัญบานที่สมรภูมิเดลิออนและแอ็มพิโปลิส โสคราตีสรับใช้รัฐด้วยความกล้าหาญ ยุติธรรมในฐานะประธานสภา และได้ช่วยชีวิตบรรดานายพล ที่ฝูงชนต้องการประหารชีวิตอย่างบ้าคลั่ง เขาเป็นทหารเดินเท้าในสงคราม ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายเงินเป็นค่าซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง สำหรับให้ทหารสวมใส่ในการรบ เช่นเครื่องกันหัวเข่า หอก หมวกที่สวมกันใบหน้า โสคราตีสมีร่างกายที่แข็งแรง มีความอดทนสูงต่อความยากลำบาก ในการไปสงครามในช่วงฤดูหนาว ทหารคนอื่นๆ ต่างปกป้องร่างกายอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันความหนาวเย็น ทำให้การเดินทัพล่าช้า แต่โสคราตีสกลับแต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น ในสายตาของทหารที่ร่วมรบ ซึ่งน่าประหลาดใจมากที่เขาทนกับความหนาวเย็นเหล่านั้นได้ แม้นการรบจะประสพความยากลำบากเพียงใด เขาก็ไม่เคยบ่น โสคราตีสมีเพื่อนฝูงมากมายต่างก็รักใคร่ชอบพอเขา โดยเฉพาะไครโต เล่ากันว่าโสคราตีสร่วมลงทุนทำการค้าเล็กน้อยกับไครโต และด้วยเงินที่โสคราตีสได้มาจากการธุรกิจร่วมกับไครโต และเงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้แก่ชาวเอธนส์ทุกคน ที่ทำหน้าที่พลเมืองในการรับใช้ชาติ ในการรับราชการเป็นทหาร เข้าร่วมในกิจการของรัฐ รวมกับมรดกตกทอดเล็กน้อย ด้วยนิสัยสมถะ ทำให้โสคราตีสสามารถใช้ชีวิตศึกษาปรัชญา โสคราตีสมักจะได้รับความช่วยจากบรรดาเพื่อนที่มีฐานะดีกว่า แต่โสคราตีสจะรับเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
โสคราตีสเรียกตัวเองว่า ตัวเหลือบ ที่ถุกส่งมาจากพระเจ้า เพื่อมาต่อยจิตใจของชาวเอเธนส์ หมายถึงกระตุ้นให้ค้นหาความจริง กระตุ้นให้เกิดการขบคิด เมโน ( Meno )เรียกโสคราตีสว่าตอร์ปีโด เพราะว่ามีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด มีฝีปากคม สามารถสร้างคำถามและโต้ตอบได้อย่างน่าอัศจรรย์ วิธีการที่โสคราตีสใช้คือ การสนทนา การสนทนาเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ โสคราตีสพบปะพูดคุยกับผู้คนบนท้องถนน เขาพูดคุยกับ ช่างฝีมือ รัฐบุรุษ ศิลปิน โซฟิสต์ โสคราตีสจะไปที่อโกรา ( Agora ) คือ ย่านที่ผู้คนมาพบปะพูดคุยกัน ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ เล่นกีฬาที่ ยิมเนเซีย ทำกิจกรรมร่วมกับชาวเอเธนส์ในกิจการของรัฐ โลกของกรีกเป็นโลกของผู้ชาย สังคมกรีกเป็นสังคมที่แตกต่างไปจากสังคมสมัยใหม่ ผู้ชายอาจมีภรรยาที่บ้าน และมีคู่รักเป็นชายในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าโสคราตีสเองก็มีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยชายหนุ่มที่มีความเฉลียวฉลาด ต้องการที่จะค้นหาความจริง และหลายคนก็มีความรักและนับถือโสคราตีสอย่างจริงใจ การสนทนาของโสคราตีสสร้างความสับสนให้เกิดแก่ผู้ร่วมสนทนา โสคราตีสจะขุด ค้นหาความจริงของทุกๆคำถาม อย่างถึงรากถึงโคน ของปัญหานั้น เพื่อสร้างความชัดเจน ด้วยวิธีนี้ทำให้คู่สนทนา เกิดความขัดแย้งต่อความรู้ของตนเอง ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกของการปกป้องตัวเองในผู้สนทนาจะเกิดขึ้น จุดนี้ทำให้โสคราตีสสร้างทั้งมิตรและศัตรู ผู้ที่ได้ค้นพบความจริงจากการสนทนากับโสคราตีสมีอยู่ แต่ผู้ที่มีความรู้สึกว่าเสียหน้า เพราะถูกโสคราตีสหักหน้าด้วยคำถามที่ทำให้จนมุม ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจน มาโต้ตอบกับโสคราตีส จะรู้สึกเกลียดชังโสคราตีสอย่างมาก โสคราตีสต้องการให้การศึกษาที่แท้จริงกับเด็กหนุ่ม เพราะบ้านเมืองต้องการ คนดี โสคราตีสยื่นมือมาทำหน้าที่นี้ โสคราตีสมีคำถามว่า พลเมืองดีกับคนดี ต้องเป็นคนคนเดียวกันหรือไม่ คำถามนี้ยังคงเป็นคำถาม ที่น่าขบคิดสำหรับผู้คนในสมัยปัจจุบัน
โสคราตีสต้องการให้คนแต่ละคนหันมาเอาใจใส่ กับจิตวิญญาณของตนเอง ไม่ใช่หันมาสะสมความมั่งคั่งทางวัตถุ โสคราตีสกล่าวไว้ในงานเรื่องอพอลโลจี โสคราตีสพูดกับปัจเจกชนเสมอ และเชื่อว่า รัฐไม่ว่าจะปกครองในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย อภิชนาธิปไตยหรือทรราชย์ การปรับปรุงรัฐไม่ใช่ทำได้จากการทำงานทางการเมือง แต่จะเกิดได้จากปัจเจกชนได้รับการศึกษาด้วยการเริ่มจากการรู้จักตนเอง มนุษย์ที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเป็นพลเมืองที่ดีได้
โสคราตีสเริ่มการค้นหาตนเอง จากความฉงนสนเทห์ในความหมายของข้อความ ที่ปรากฎอยู่ที่วิหารเดลฟี ที่ว่า จงรู้จักตนเอง ตลอดชีวิตของโสคราตีสเขาค้นหาสิ่งนี้
โสคราตีสมีเสียงเรียกจากภายใน ซึ่งเขาได้รับมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเสียงนี้มักจะห้ามไม่ให้เขาทำอะไร ไม่ออกคำสั่งให้ทำอะไร ในสงครามโสคราตีสช่วยเพื่อนทหารจากเสียงเรียกในจิตของเขา เมื่อ ต้องขึ้นแก้คดีในศาล โสคราตีสไม่เตรียมสุนทรพจน์ไว้แก้ต่าง เมื่อไครโตถามเขาถึงเรื่องนี้ โสคราตีสกลับตอบว่า ไม่มีเสียงเรียกให้เขาทำสิ่งนี้
2. Plato
โสคราตีสสอนอะไร? เพลโต เขียนงานทางปรัชญาหลายเรื่อง ที่มีโสคราตีสเป็นตัวละครเอก เป็นผู้นำการสนทนา ข้อเขียนของเพลโตให้หลักฐานบางส่วนต่อคำถามที่ว่า โสคราตีสสอนอะไร งานของเพลโตมีผู้เชื่อว่า งานในระยะแรกเป็นงาน ที่เพลโตยังคงรักษาแนวคิดของโสคราตีส แต่งานในระยะหลังจะเป็นแนวคิดของเพลโตเอง จากงานของเพลโต และนักคิดที่ได้กล่าวนามมาก่อนข้างต้น พอจะทำให้ทราบได้ว่า โสคราตีสทิ้งข้อความไม่กี่ประโยค ให้คนรุ่นหลังพยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดกับตนเอง ข้อความเหล่านั้นมีดังนี้
ไม่มีใครทำผิด โดยตั้งใจ ที่ทำผิดเพราะไม่รู้ ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่คุ้มค่าต่อการมีชีวิตอยู่ คุณธรรมคือความรู้ ( ความรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ถ้าเข้าใจจะปฎิบัติได้ถูกต้อง )
จะพบว่า แท้จริงแล้วโสคราตีส คือครูสอนจริยธรรมนั่นเอง การค้นหาความจริงด้วยการทำความเข้าใจ ให้เกิดแก่ตนเอง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง
ข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับแนวคิดของโสคราตีส ถ้าเพลโตเขียนบทสนทนาเกี่ยวกับโสคราตีสตรงกับข้อเท็จจริง จะพบแนวคิดที่น่าสนใจที่ว่า โสคราตีส มีแนวคิดว่า วิชาชีพไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่ การรู้จักตนเอง วิชาชีพคือการศึกษาเท็คนิค นอกเหนือจากการศึกษาวิชาชีพ คนแต่ละคนต้องให้ความสนใจกับจิตวิญญาณของตนเอง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่โสคราตีสเน้น
เพลโต ( Plato ) เกิดปี 428 ก่อนค.ศ เข้ารับราชการทหารตามวิถีชีวิต ของชายหนุ่มชาวกรีก เพลโตมีอายุ 18 ปี ในช่วงที่มีการตัดสินประหารชีวิตโสคราตีส ก่อตั้งอคาเดมี ในปี 367 ก่อนค.ศ เสียชีวิตในปี 346 ก่อนค.ศ ในช่วงวัยหนุ่มของเพลโตเป็นช่วงที่เอเธนส์ถึงจุดเสื่อม เพลโตเห็นความพ่ายแพ้ของเอเธนส์ต่อสปาต้า เพลโตมีแนวคิดที่ต่างไปจากเพื่อนร่วมนครรัฐที่ต้องการ จะฟื้นฟูเอเธนส์ขึ้นมาใหม่ แต่เพลโตคิดตรงข้าม เขาคิดว่า สิ่งเร่งด่วนที่ชาวกรีกต้องกระทำ ในขณะนั้น คือร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อปกป้องชาวกรีกทั้งมวล และนั่นหมายความว่า จิตใจของชาวกรีกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สมาพันธรัฐของกรีกรวมตัวกันได้อย่างจริงจัง งานทางปรัชญาของเพลโตอธิบายแนวคิด ทางสังคมและการเมือง บนการวิเคราะห์ลึกลงไปที่คุณสมบัติพื้นฐานของจิตใจมนุษย์ การวิเคราะห์ของเพลโตกระตุ้นให้มนุษย์ หันมาสนใจศึกษากระบวนการทางจิตวิญญานของตนเอง แนวคิดนี้มีความเป็นจริง และปูพื้นฐานให้กับการศึกษาจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ ในสมัยต่อมา ลักษณะของรัฐสะท้อนลักษณะโดยรวมของประชาชน
เพลโตมีแนวคิดว่าสังคมของชาวเอเธนส์มีจุดอ่อนอยู่ 3 ประการ คือ ต่อสู้กันเองระหว่างกลุ่มต่างๆ สอง มีรัฐบาลที่ไม่ดี และสาม มีการศึกษาที่ไม่ดีพอ การต่อสู้ของชนกลุ่มต่างๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มของตน การปกครองแบบประชาธิปไตยเอเธนส์ เพลโตวิจารณ์ว่า เป็นการปกครองของฝูงชน เสียงของคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เสียงสวรรค์ เสียงของคนส่วนใหญ่ ไม่ใด้นำมาซึ่งความคิดเห็นที่ถูกต้องเสมอไป บ่อยครั้งที่นำไปสู่หายนะภัย การชี้นำที่ถูกต้อง จะต้องมีเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง การปกครองที่ดีต้องมีสติปัญญาชี้นำ แนวคิดของเพลโตปรากฏในเรื่อง Republic กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำ การศึกษาแบบเท่าเทียมกัน กลายมาเป็นอุปสรรคในทัศนะของเพลโต ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ที่มีความสามารถเด่นเป็นพิเศษจะไม่ได้รับการสนับสนุน มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งไม่ถูกต้องในทัศนะของเพลโต เพลโตชื่นชมการใช้ชีวิต วิถีสังคมและการเมืองของชาวสปาต้า มากกว่านครรัฐเอเธนส์ ที่เป็นบ้านเกิด ครอสมันด์ ( Crossman ) มีเหตุผลให้กับความรู้สึกนี้ของเพลโต ประการแรก สปาต้าเป็นนครรัฐ ที่มีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองได้ ทำการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งต่างจากเอเธนส์ที่ต้องพึ่งพา ผลผลิดทางการเกษตรจากต่างชาติ สปาต้าไม่มีความคิด ในเรื่องการเป็น มหาอำนาจ ผู้นำนครรัฐกรีกอื่นๆ เช่นเอเธนส์ เอเนส์ใช้เงินจำนวนมหาศาลไปกับการสร้างวิหาร ใฝ่ในศิลปวิทยาการ เพื่อมุ่งหวังที่จะเป็น แม่แบบของนครรัฐทั้งหลาย เอเธนส์สร้างกองทัพเรือเพื่อป้องกันตนเอง และคุ้มครองเส้นทางการเดินเรือสินค้าของตน ประการที่สอง ผู้นำของสปาต้าถูกอบรมมาเพื่อเป็นผู้นำ ผู้นำไม่ได้รับอนุญาติให้มีทรัพย์สินส่วนตัว หรือมีความเป็นอยู่ที่ร่ำรวย ประการสุดท้าย การศึกษาไม่ได้เปิดเสรีแบบเอเธนส์ มีการคุมเข้มโดยรัฐ และสปาต้าไม่ยินยอมให้สิ่งที่ผู้นำพิจารณาว่า จะนำมาซึ่งความเสื่อมของสังคม เข้ามาเผยแพร่ในรัฐ เช่นเดียวกับที่เอเธนส์เป็นในขณะนั้น การศึกษาของสปาต้ามีความเข้มงวดและส่งเสริมคนมีความสามารถ จึงสามารถที่จะฝึกฝนให้เก่งเฉพาะด้านได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพลโตไม่ได้คิดว่า รัฐแบบสปาต้าจะมีการปกครองที่ดีเลิศ เพียงแต่ดีกว่าเอเธนส์ในหลายแง่มุม ยกตัวอย่างเช่น พวกทาสของสปาต้ามีเหตุผลที่จะก่อการขบถ แต่เจ้าของกิจการในเอเธนส์ ไม่มีเหตุผลที่จะใช้แรงงานจากทาส มากกว่าจากเสรีชน( Crossman,
การตายของโสคราตีส มีผลกระทบทางใจ เกิดกับเพลโตอย่างมาก เพลโตไม่สามารถอยู่ที่เอเธนส์ได้ เขาออกเดินทางไปต่างถิ่นเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเพื่อให้ลืมความขมขื่นที่ความอยุติธรรมของสังคม มอบให้กับโสคราตีส เพลโตได้เรียนรู้ว่า การพูดคุยกับผู้คนแบบที่โสคราตีสทำไม่ปลอดภัย เขาจึงหันมาตั้งสถานศึกษา และทำการสอนวิทยาการต่างๆ มีลักษณะของวิชาที่ใกล้เคียงกับวิชาการ ที่ทำการสอนกันในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน คือ สอนทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ดนตรีและศิลป แนวคิดของโสเครตีส ที่มีอิทธิพลต่อเพลโต คือ แนวคิดในเรื่อง มโนคติที่สมบูรณ์ ที่รู้จักกันดีว่าแบบ เหตุผลเท่านั้นที่จะนำทางไปสู่ความเข้าใจในเรื่องนี้ จิตที่ถูกนำทางด้วยเหตุผล จะเผยให้เกิดการรับรู้และเข้าใจ ถึง ความจริง ความดีและความงามของสรรพสิ่ง การค้นหาเป็นเรื่องของการปฎิบัติ ที่เกิดจากจิตใจที่แสวงหาคำตอบ ในระดับต่างๆของแต่ละคน เพลโตเห็นคุณค่าของการศึกษาคณิตศาสตร์ ว่าสามารถทำให้เกิดสติปัญญาที่จะเข้าใจ ความจริงในระดับลึก คือความคิดเชิงนามธรรม ที่ไปพ้นจากความจริงระดับตรรก ในอคาเดมีของเพลโต เพลโตสอนศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่ ความเข้าใจในโลกแห่งมโนคติ เพลโตมั่นใจว่า มีเพียงผู้ที่เข้าใจเท่านั้น ที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ
เพลโตเป็นนักปรัชญาที่มีงานเขียนตกทอดมาถึงคนในยุคปัจจุบัน ให้ได้เรียนรู้ อยู่มาก พอสมควร ในงานเขียนของเพลโตจะพบแนวคิดที่หลากหลาย แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ ปรากฎอยู่ในงานของเพลโต เช่นแนวคิดของเฮราคลีตุส ( Heraclitus ) เรื่อง “ Eternal Flux” แนวคิดของพาร์มีนีดีส ( Parmenides ) “ Being and Non-Being” เพลโตสนใจงานทางคณิตศาสตร์ และไปศึกษางานทางคณิตศาสตร์อยู่ระยะหนึ่งที่ซิซีลี งานเขียนในระยะสุดท้ายของเพลโตเรื่องฟีเลบัส ( Philebus ) เพลโตกล่าวถึงการศึกษาตัวเลข ว่าจะช่วยความเข้าใจในเรื่องแบบได้
งานเขียนของเพลโตใช้สไตล์ ที่แปลกไปจากสไตล์ของงานเขียน ที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้นเพลโตเขียนงานทางปรัชญาในรูปของไดอะลอค ( Dialogue ) หรือบทสนทนา การสนทนาสร้างเงื่อนไข ของการค้นหาความจริง สไตล์การเขียนไม่นับว่าเป็นงานที่อยู่ในระดับดี สำหรับการตัดสินผลงานเขียนในสมัยนั้น มีผู้วิจารณ์ว่าเพลโตไม่ได้เขียนงานขึ้นเอง เขาเพียงแต่รายงานสิ่งที่เขาได้ยินได้เห็นเท่านั้น แต่สำหรับผู้ศึกษาปรัชญาก็ยังไม่ได้เปลี่ยนท่าที หันมายอมรับงานเขียนเหล่านั้นว่า ไม่ใช่งานของเพลโต แม้ว่าจะมีผู้วิจารณ์อย่างไรก็ตาม คุณค่าที่สำคัญในงานเขียนของเพลโต คือทำให้เราทราบว่า โสคราตีสมีแนวคิดอย่างไร และใช้วิธีการใดนำเสนอแนวคิด และค้นหาคำตอบของความสงสัยของเขาอย่างไร การอ่านงานของเพลโต ให้ความรู้สึกเหมือนชมวีดิทัศน์ ในสมัยปัจจุบัน ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างภาพ ทำความรู้จักกับโสคราตีสได้เป็นอย่างดี เราทราบจากงานของนักคิดร่วมสมัยกับเพลโตหลายท่านเกี่ยวกับโสคราตีส แต่ไดอะลอคของเพลโตมีแง่มุมของปรัชญา มากกว่างานของนักคิดเหล่านั้น วิธีการค้นหาคำตอบ ของ สิ่งนี้คืออะไร ของโสคราตีส เพลโตใช้คำว่า ไดอะเลคติค (Dialectic ) ซึ่งต่างจากนักคิดกลุ่มโซฟิสต์ ที่เพลโตใช้คำว่า อีรีสติค ( Eristic ) ที่หมายถึง ความขัดแย้ง ( Controversy ) เพลโตเองคงจะมองเห็นว่าวิธีการนี้ เหมาะสมดี ในการนำมาใช้ในการค้นหาคำตอบของคำถามต่าง ๆ ที่สงสัย ไม่แน่ใจให้มีคำตอบ ไดอะเลคติคเป็นเทคนิคที่เพลโตนำเสนอ ในงานเขียนทั้งหมดของเขา โดยมีตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริง ในช่วงเวลานั้น ตัวละครมีวัยที่แตกต่างกันออกไป โสคราตีสเป็นคนดำเนินเรื่อง ชื่อเรื่อง หลายเรื่องตั้งตามชื่อของคู่สนทนาของโสคราตีส เรื่องจบลงที่การค้นหาดำเนินต่อไปในตัวผู้อ่าน เพราะโสคราตีสเองไม่ได้ให้คำตอบอะไรที่ชัดเจน งานที่เพลโตเขียน ได้จัดแยก ไว้ 3 ช่วงดังนี้
งานเขียนช่วงแรก - Charmides, Larch , Lysis, Protagoras, Gorgias, Meno,
Euthyphro, Apology, Crito, Cratylus
งานเขียนช่วงกลาง - Phado, Symposium, Phaedrus, Republic, Timaeus
งานเขียนช่วงหลัง - Parmenides, Theaetetus, Sophist, Statesman, Philebus, Laws
งานเขียนที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นงานเขียนในระยะต้นและระยะกลางของเพลโต ผลงาน เรื่อง Republic เป็นที่รู้จัก กันแพร่หลาย เป็นงานที่มีชื่อเสียงของเพลโต คุณค่าของงานชิ้นนี้คือ จุดประกาย แนวคิดทางการเมืองและสังคม ในสมัยต่อมา เกิดภาพของสังคมในอุดมคติ ที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ ไม่คอร์รับชั่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ทหารไม่ทำร้ายประชาชน แต่จะปกป้อง เหมือนสุนัขที่รักเจ้าของแต่ชิงชังศัตรู รัฐพึ่งตนเองได้ เพราะประชาชนทำงาน ตาม คุณสมบัติของจิตวิญญาณ นั่นคือทำงานที่ตนเองถนัด ประชาชนไม่มีทรัพย์สินของตนเอง ทรัพย์สินเป็นของส่วนกลางรวมถึง บุตรธิดา เพลโตนำเสนอ การปกครองแบบสังคมนิยม คำศัพท์สมัยใหม่ ที่ความหมายเข้าใจกันเป็นอย่างดี งานที่เสนอในรูปแบบของรัฐในอุดมคติและสังคมนิยม ในสมัยหลังอีกหลายร้อยปี มีงานของ โทมัส มอร์ ( Thomas More ) เรื่องยูโทเปีย ( Utopia ) งานของคารล์ มากซร์ ( Karl Marx ) เรื่อง แคปปิตาลิสม์ ( Capitalism ) งานของ ชูเมกเกอร์ เรื่อง ‘Small is Beautiful “ เละอัลดอกซ์ ฮักซเลอร์ ( Aldoux Huxley ) เรื่อง “ The Brave New World “
เพลโตเน้นมากว่า ผู้นำต้องมีสติปัญญาที่เหนือกว่า พลเมืองโดยทั่วไป และต้องผ่านการฝึกฝน เพลโตกล่าวเปรียบเทียบ ไว้ในรีพับลิค เรื่อง ความเป็นไปในถ้ำมืด ( The Analogy of the Cave ) ผู้นำคือผู้ต้องเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่ง และกลับมาปลดปล่อยผู้ที่ถูกพันธนาการด้วยความไม่รู้ทั้งหลาย พวกนักโทษที่อยู่ในถ้ำ หลงเข้าใจผิดว่าสิ่งที่พบเจอ คือของจริง จุดนี้เพลโตกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง ความรู้ ( Episteme ) และความเชื่อ ( Doxa ) อิทธิพลของการสืบค้นเข้าสู่ความไม่รู้ของตนเอง เพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระของโสคราตีส มีอิทธิพลต่องานของเพลโต ช่วยให้เพลโตเกิดความกระจ่างชัด กล้ายืนยันแนวคิดทางจริยธรรม เรื่องแบบของความดี ที่สูงส่งกว่าแบบอื่นๆทั้งหลาย แนวคิดนี้สนับสนุนสิ่งที่โสคราตีสเชื่อมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำให้เป็นระบบความคิดขึ้นมาได้ แนวคิดของโซฟิสต์ถูกหักล้างด้วย แบบแห่งความดีของเพลโต ที่สติปัญญาจะนำทางให้มนุษย์เข้าใจแบบนี้ได้ ถ้าค้นพบและเข้าใจ จะไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ของความคิดเห็นทั้งสิ้น ทฤษฎีแบบของเพลโต มีความคิดของปรัชญาตะวันออกเข้าไปผสมอยู่มาก เพราะเพลโตมีความเข้าใจว่า โลกแห่งประสาทสัมผัส ไม่ใช่ความจริง เป็นโลกที่เปลี่ยนแปลง มนุษย์ไม่ควรที่จะติดอยู่ในโลก แห่งมายาที่ดูเหมือนจริงแห่งนี้ มนุษย์ควรจะใช้เหตุผลพัฒนาตนเอง เพื่อเข้าถึงความเป็นจริง เช่นเดียวกับที่นักโทษคนหนึ่งสามารถที่หลุดพ้นพันธนาการ และออกมาพบกับแสงสว่างและความงามของสรรพสิ่ง นอกถ้ำ เมื่อมนุษย์เข้าถึงความแท้จริง การปฎิบัติจะเป็นไปอย่างถูกต้อง
โสคราตีสเสนอวิธีการที่ดี เขาอาจเข้าถึงความจริง แต่ไม่ได้อธิบายด้วยถ้อยคำมากมาย อาจเป็นไปได้ว่าโสคราตีสไม่มีความรู้สูง ไม่สามารถใช้ภาษาเขียนได้ดี แต่มีความสามารถพิเศษในการสร้าง ความสงสัย ให้เกิดในบุคคลอื่น และยอมรับความไม่รู้ของตนเอง มีพลังแห่งการค้นหา เพื่อปลดปล่อยตนเองจากความไม่รู้ เพลโตทำงานต่อจากที่โสคราตีสทิ้งค้างไว้ ให้ความหมายและอธิบายเพิ่มเติม เพลโตไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อในสิ่งที่เขานำเสนอ ผู้ที่ศึกษางานที่ หลงเหลืออยู่ของเพลโตจะต้องทำงาน คือ ค้นหาความจริงนี้ต่อไป เอ เอ็น ไวท์เฮด ( A.N.Whithead )ได้กล่าวยกย่องเพลโตไว้ว่า แนวคิดของปรัชญาตะวันตกทั้งหมด เป็นเพียงแค่ฟูตโน็ต ในปรัชญาของเพลโตเท่านั้น
3. Aristotle
อริสโตเติล ( Aristotle ) เกิดประมาณปี 384 ก่อนค.ศ ที่เมืองสตากีรา ( Stagira ) รัฐเทรซ (Thrace) บิดาเป็นแพทย์ประจำราชสำนักของกษัตริย์แห่งมาซีโดเนีย มาเอเธนส์เมื่ออายุ18 ปี เป็นลูกศิษย์ของเพลโต เรียนที่อคาเดมี ออกจากอคาเดมีเมื่อเพลโตเสียชีวิตในปี 346 ก่อนค.ศ อริสโตเติลเป็นติวเตอร์ให้กับเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ภายหลังคืออเล็กซานเดอร์มหาราช ในขณะที่มีอายุประมาณ 17 ปี มีข้อขัดแย้งของแนวคิดของนักปรัชญาในสมัยหลังถึง อิทธิพลของปรัชญาที่มีต่ออเล็กซานเดอร์ เฮเกลเชื่อว่า แนวคำสอนของอริสโตเติล ต้องมีอิทธิพลต่อวิธีคิด ในการปกครองของกษัตริย์หนุ่ม รัสเซลมีแนวคิดที่ตรงกันข้าม ไม่คิดว่าอริสโตเติลจะมีบทบาทต่ออเล็กซานเดอร์ แต่อย่างใด และอเล็กซานเดอร์ไม่น่าจะเข้าใจ หลักการทองคำแห่งวิถี ของอริสโตเติล อริสโตเติลสอนเรื่องการเดินสายกลาง ที่ไม่ตึง ไปในด้านใดด้านหนึ่ง แต่อุปนิสัยของเอ็กซานเดอร์ตรงกันข้าม และในทัศนะของรัสเซล อเล็กซานเดอร์ ไม่ใช่คนปราดเปรื่อง และยังดื้อรั้นอีกต่างหาก เมื่ออเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ ชาวเอเธนส์ก่อการขบถต่อมาซีโดเนีย อริสโตเติลในฐานะพระอาจารย์เก่าต้องหลบหนีจากเอเธนส์ และเสียชีวิตในปี 322 ก่อนคศ
อริสโตเติลมีแนวคิดที่เป็นระบบ ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เป็นทั้งนักอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ภายหลังการตายของอริสโตเติลหลายร้อยปี จึงเกิดนักปรัชญาขึ้นทำเนียบที่สามารถเทียบเคียง ความยิ่งใหญ่ของอริสโตเติลได้ อริสโตเติลมีผลงานหลากหลาย มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับตรรกวิทยา จริยศาสตร์และการเมือง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ จุดเด่นของงานอยู่ที่ผลงานทางตรรกวิทยา จริยศาสตร์และการเมือง ความสามารถของอริสโตเติลเทียบเท่าศาสตราจารย์ ระดับโนเบิลไพรซ์.ในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน งานเขียนมีคำอธิบายอย่างละเอียดละออ ช่วงของความคิดมีการอธิบายเชิงวิเคราะห์ มีการให้ข้อมูลและ ช่วงเวลา บางครั้งมีเรื่องแทรกเพิ่มเติม มีตัวอย่างของคำอธิบาย การนำเสนออยู่ในรูปแบบเดียวกับ การนำเสนองานเชิงวิชาการในปัจจุบัน อริสโตเติลมีงานเขียนที่ชัดเจน เข้าใจได้ ในที่นี้จะยกตัวอย่างแนวคิดทางจริยศาสตร์และการเมือง เพื่อให้ทราบว่าอริสโตเติลมีแนวคิดอย่างไรบ้าง
งานทางจริยศาสตร์ของอริสโตเติลต่างจากเพลโต อริสโตเติลกล่าวถึงชีวิตที่เข้าใจได้ ความดีที่มนุษย์ปฏิบัติได้ อริสโตเติลมีมุมมองเกี่ยวกับพฤติกรรม ของมนุษย์ที่น่าสนใจยิ่ง เขาเข้าใจดีว่าสิ่งที่คนในสังคมต้องการมากที่สุดคืออะไร ดังนั้นหลักแห่งการปฏิบัติ จึงไม่ใช่สิ่งซับซ้อนที่ต้องค้นหา อริสโตเติลมองเห็นว่ามนุษย์ใฝ่หาสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ดีมีอยู่มากมาย ไม่ใช่มีอยู่หนึ่งเดียว ที่สำคัญคือเข้าถึงได้ในชีวิตของคนทุกคน การกระทำเป็นเรื่อง สำคัญยิ่งที่จะพาให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมาย ชีวิตที่ดีคืออะไร อริสโตเติลมีคำอธิบายว่า หมายถึงการกินดีอยุ่ดี หรือที่ในภาษาสมัยใหม่หมายถึง คุณภาพชีวิต ไม่ได้หมายเฉพาะ ความต้องการทางด้านร่างกายอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงคุณภาพด้านอื่นๆของชีวิต รวมถึงคุณภาพด้านจิตใจ ในหนังสือเรื่อง Nichmachean Ethics กล่าวถึงชีวิตที่มีความสงบ เป็นชีวิตที่มีการกระทำที่มีคุณธรรม มีศีลธรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชีวิตที่ดีต้องมีส่วนผสมของการใช้เหตุผล นำการกระทำ อริสโตเติล เข้าใจ และเห็นความยากลำบากของการต่อสู้ ระหว่างความต้องการ รวมถึงเข้าใจความรู้สึกต่างๆของมนุษย์ เพื่อสร้างความกลมกลืนให้เกิด สติปัญญาจึงมีความสำคัญ สิ่งที่น่าสนใจมากในจริยศาสตร์ของอริสโตเติลก็คือ ความเข้าใจของเขา ที่เห็นว่าการกระทำของมนุษย์มีสิ่งแวดล้อม และสังคมเป็นตัวกำหนด สติปัญญาจะใช้เป็นเครื่องมือ ที่จะแยกแยะเพื่อนำมนุษย์ไปสู่วิถีทาง ที่จะมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ดีงาม ทัศนะทางการเมืองของอริสโตเติลได้รับการยอมรับและยกย่อง งานที่มีชื่อเสียงคือ Politics โลกของกรีกโบราณบ่มเพาะทัศนคติ วิถีชีวิต และแนวทางการเมืองที่มีรูปแบบการปกครองที่หลากหลาย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมาก หนังสือเล่มนี้จัดได้ว่าเป็นหนังสือวิเคราะห์ และนำเสนอข้อคิดเห็น ทางการเมืองและการปกครองเอาไว้เป็นเล่มแรกๆของโลก หลายประเด็นของข้อเสนอแนะ มีความทันสมัย อริสโตเติลเสนอว่า กฏหมายเป็นสิ่งจำเป็นในรัฐ เพื่อควบคุมมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ที่ป่าเถื่อนและดุร้าย และป้องกันมิให้มนุษย์ทำความชั่วร้าย รัฐมีขึ้นเพื่อสร้างชีวิตที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้า หรือป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรม จุดประสงค์ที่รัฐมีขึ้น เพื่อเป้าหมายที่ทรงคุณค่าและสูงล่ง อริสโตเติลเหมือนชาวกรีกทั่วๆไป ที่มีความลำเอียงเห็นว่าเผ่าพันธ์ของตนเอง ดีกว่าเผ่าพันธ์อื่นๆ การวางรากฐานทางการศึกษาบังคับเฉพาะในชาวกรีกเท่านั้น การศึกษาเพื่อสร้างคุณธรรม เพื่อนำคุณธรรม นั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต การศึกษาของพลเมืองต้องแตกต่างไปจากทาส พลเมืองต้องเรียนรู้ทฤษฏีทางการเมือง ต้องมีส่วนในการปกครอง รัฐจะต้องจัดให้ราษฎร์มีเวลาว่าง และใช้เวลาว่างนั้นไปอย่างมีประโยชน์ อริสโตเติลเชื่อว่า ชาวกรีกมีทั้งสติปัญญาและคุณสมบัติทางจิตใจ การสอนเรื่องทักษะต่างๆ สอนให้กับทาส กีฬาเล่นเพื่อให้พลานามัยดี แต่ไม่ใช่แบบหักโหม และก่อให้เกิดผลเสีย แก่การเจริญเติบโตของร่างกายในภายหลัง ชาวกรีกจะต้องไม่เป็นทาส มีแต่เผ่าพันธ์อึ่นที่มีความเจริญน้อยกว่าเท่านั้น ที่เหมาะสมที่จะเป็นทาส พวกทาสจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับงานช่างฝีมือ รัฐที่ดีต้องพึ่งพาตนเองได้ พึ่งผลิดผลของตนเองและทำการค้ากับต่างชาติ
อริสโตเติลวิจารณ์งานทางการเมืองของเพลโต ในเรื่อง Republic ไว้ใน ประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนรวม อริสโตเติลไม่เห็นด้วยที่จะให้ บุตรเป็นของส่วนรวม เพราะจะไม่มีใครดูแลอย่างจริงจัง เด็กๆจะถูกปล่อยปละละเลย ความคิดเห็นของอริสโตเติล มีข้อพิสูจน์ที่พบเห็นกันอยู่ในสังคมปัจจุบัน เพราะไม่มีใครดูแลของส่วนรวม อริสโตเติลมีงานเขียนที่เป็นแบบอย่างที่ดี ให้แก่นักคิดในสมัยต่อมาได้ถือเป็นแบบอย่าง และอิทธิพลของปรัชญากรีกโบราณ ได้สืบทอดแนวคิด และพัฒนา มีความเจริญก้าวหน้า ในอาณาจักรโรมันและโลกอาหรับ
วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น