วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

โสคราตีสคนจริง

1. ชีวิต (469-399 ก่อนคริสตกาล)
โสคราตีสในภาพลักษณ์ของเรานั้นเป็นชายหนุ่ม ชีวิตวัยหนุ่มของโสคราตีส เราไม่รู้จัก เอกสารชิ้นแรกสุดที่พูดถึงเขาคือ (บทละครเรื่อง) หมู่เมฆ ของอริสโตฟาเน็ส โสคราเต็สตายในปี 399 ด้วยการดื่มยาพิษ พ่อของโสคราตีสเป็นช่างเรียงหิน แม่เป็นหมอตำแย แต่ถึงแม้จะมีชาติกำเนิดไม่เด่นเป็นพิเศษอันใดเขาก็ได้เป็นพลเมืองเอเธนส์ด้วยการใช้ชีวิตตระหนี่ถี่ถ้วนเขาจึงเป็นอิสระในด้านวัตถุปัจจัย ต้องขอบคุณมรดกก้อนน้อย ๆ กับเงินอุดหนุนของรัฐที่จ่ายให้กับชาวเอเธนส์ทุกคน (ค่าธรรมเนียมโรงมหรสพและอะไรทำนองนี้) ในหน้าที่พลเมืองที่ต้องรับใช้รัฐด้านการทหาร โสคราตีสเป็นทหารเดินเท้าในสงครามเปโลปอนเนเซีย เข้าระจัญบานที่สมรภูมิเดลิอ็อนและแอ็มฟิโปลิส ส่วนภาระหน้าที่ด้านการเมืองอันเป็นเชิงบังคับนั้น เขารับใช้เอเธนส์ในฐานะประธานสภาเมื่อปี 406 และได้แสวงหาความยุติธรรมให้กับบรรดานายพลผู้บัญชาการกองทหารเอเธนส์ในสมรภูมิอาร์กีนูซาเอ ที่ถูกฝูงชนบ้าคลั่งเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิต แต่ทว่าเขาไม่เคยมีความใฝ่ฝันในตำแหน่งสำคัญอันใด ไม่ว่าในรัฐหรือในกองทัพ ซันธิปเปเมียของเขาไม่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเขา ชีวิตของนักปรัชญาน่าสนใจทีเดียว เรารู้ว่าโสคราตีสมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เขาเป็นปราชญ์คนแรกที่ยืนอยู่ ต่อหน้าเราด้วยตนเอง เขาเป็นชายอัปลักษณ์ ตาโปน จมูกงุ้ม ริมฝีปากหนา พุงโร และร่างม่อต้อของเขาชวนให้นึกไปถึง (เจ้าป่า)* ซีเลนุส (ผู้อบรมเยงดูเทพดีโอนีซุส) หรือ (เจ้าป่า) ซาตีรุส (บริวารเทพดีโอนีซุส) เขาถูกสร้างมาให้มีสังขารเข้มแข็งอดทน ชินชากับความยากเข็ญและเย็นชา
โสคราตีสในภาพลักษณ์ของเรานั้นเป็นชายวัยกลางคน ชีวิตวัยหนุ่มของเขาเราไม่รู้จัก เขาเติบโตมาในเอเธนส์อันเกรียงไกร รุ่งเรือง สุกใสจากผลพวงของสงครามเปอร์เซียหลายครั้งหลายหน เขาอายุเกือบสี่สิบแล้วเมื่อตอนที่สงครามหายนะเปโลปอนเนเซียอุบัติขึ้น (431) ช่วงนั้นโดยแท้ที่เขากลายมาเป็นที่สนใจของสาธารณชน เอกสารชิ้นแรกสุดที่พูดถึงเขาคือ (บทละครเรื่อง) หมู่เมฆ ของอริสโตฟาเน็ส ซึ่งเขียนล้อเลียนเขา (423) เขาประสบกับความเสื่อมและความล่มจมของเอเธนส์ (405) เมื่ออายุเจ็ดสิบเขาถูกกล่าวหาว่าขาดความเคารพ (เทพเจ้า) จึงถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินประหารชีวิต เขาตายในปี 399 ด้วยการดื่มยาพิษ *ข้อความในวงเล็บจะเป็นของผู้แปล ส่วนตัวเลขในวงเล็บเป็นของผู้เขียน หมายถึงปีก่อน คริสกาลของ เหตุการณ์นั้น ๆ
2. พัฒนาการทางสติปัญญา
เขายังไม่รู้ว่าสัจจะเป็นอะไรบางอย่างที่แน่นอนและแตกต่าง แต่ทว่าเขาพร้อมอยู่ด้วยการตระหนักต่อเสียงเพรียกในตัวเขาและภารกิจอันประเสริฐ พัฒนาการทางสติปัญญาของเขาอนุมานได้อย่างเดียว เขารู้จักปรัชญาธรรมชาติของอานักซา-โกรัสและ อาร์เฆลาอุส เขาประสบกับยุคของพวกโซฟิสต์และได้เป็นนายเหนือวิธีการของคนพวกนี้ ปรัชญาทั้งหลายเหล่านี้หาได้ยังความพอใจให้กับเขา ปรัชญาธรรมชาติช่วยอะไรวิญญาณมนุษย์ไม่ได้ แน่ละ พวกโซฟิสต์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในการก่อความสงสัยขึ้น แต่ทว่าในการกระทำเช่นนั้น พวกเขา ก็ได้ทำผิดไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไป หรือปฏิเสธความมีเหตุผลของจารีตประเพณีทั้งหมด ท่ามกลางกระแสความคิดตัดกันเหล่านี้ โสคราตีสก็มิได้มีลัทธิคำสอนใหม่ อีกทั้งเขาก็มิได้อ้างสิทธิเหนือกรรมวิธีที่พอเพียงอยู่ในตัวของมันเองแต่อย่างใด คงต้องมีอยู่วันหนึ่งโสคราตีสได้ก้าวมาถึงหัวเลี้ยว เมื่อตอนที่เขาเล็งเห็นว่าปรัชญาธรรมชาติ มิได้แบกรับปัญหาอันหนักอกของผู้คนนั้น เมื่อตอนที่เขาสำนึกรู้แนวโน้มความเสื่อมศีลธรรมของลัทธิ โซฟิสต์นั้น เขายังไม่รู้ว่าสัจจะเป็นอะไรบางอย่างที่แน่นอนและแตกต่าง แต่ทว่าเขาพร้อมอยู่ด้วยการตระหนักต่อเสียงเพรียกในตัวเขาและภารกิจอันประเสริฐ เขาเหมือนพวกศาสดาพยากรณ์ตรงที่แน่ใจในเสียงเพรียกนั้นไม่เหมือนตรงที่เขาไม่มีอะไรจะป่าวประกาศ ไม่ใช่พระเจ้าที่เลือกเขามาแจ้งแก่มนุษย์ถึง สิ่งที่พระองค์มีบัญชา ภารกิจของเขาคือการแสวงหาความเข้าใจในตัวเอง การซักถามไม่ลดละ ย่อมไขที่ลับให้โล่งไปหมด ไม่เรียกร้องให้ศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือต่อตัวเขา แต่เรียกร้องให้คิด ให้ถาม ให้ทดสอบ ดังนั้นจึงแนะทางให้คนไปหาตัวตนของตัวเอง แต่โดยเหตุที่ตัวตน ของคนพำนักอยู่จำเพาะในความรู้เรื่องความจริงและความดี ผู้ถือเอาการคิดอย่างจริงจังดังกล่าวแล้วเท่านั้น ผู้ตกลงใจเอาสัจจะเป็นมัคคุเทศก์แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นตัวของเขาเองได้อย่างแท้จริง
3. การสนทนา
โสคราตีทำให้คนหนุ่มสับสน บังคับให้ต้องคิด ต้องพินิจพิเคราะห์สอบถามอยู่ครั้งแล้ว ครั้งเล่า และต้องตอบโดยไม่บ่ายเบี่ยง การสนทนาแบบโสคราตีสคือความเป็นจริงพื้นฐานของชีวิตนี้ เขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ พวกช่างฝีมือ รัฐบุรุษ ศิลปิน พวกโซฟิสต์ หญิงโสเภณี เขาก็เหมือนชาวเอเธนส์จำนวนมาก ใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน ตามย่านร้านตลาด ยิมเนเซีย หรือที่งานเลี้ยงสังสรรค์ มันเป็นชีวิตของการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนทุกคน การพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะเป็นรูปแบบชีวิตเสรีของชาวเอเธนส์ แต่มาตอนนี้มันเป็นเครื่องมือการคิดปรัชญาของโสคราเต็ส มันกลายมาเป็นอะไรสักอย่างที่ต่างไป เป็น การพูดคุย แลกเปลี่ยนที่ปลุกเร้า ยั่วแหย่ ก่อให้เกิดความจับใจเหลือที่วิญญาณชั้นในสุดของคนจะขัดขืนได้ การพูดคุย การสนทนา มีความจำเป็นต่อค้นหาความจริง ด้วยว่าธรรมชาติของความจริงจะเปิดเผยต่อ คนคนคนหนึ่งก็จำเพาะในการสนทนากับคนอีกคนหนึ่งเท่านั้น เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจอย่างเเท้จริง โสคราตีสจึงขาดคนอื่นไม่ได้ และเขาก็เชื่อว่าคนพวกนั้นขาดเขาไม่ได้ด้วย ที่สำคัญคือพวกคนหนุ่มเหล่านั้น โสคราตีสต้องการให้การศึกษา การศึกษาที่เขาหมายถึงนั้น ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน ที่ผู้รู้ปฏิบัติต่อผู้ไม่รู้ แต่เป็นสภาวะธรรมชาติที่คนสื่อสารซึ่งกันและกัน ที่คนเข้าใจได้ ในสภาวะนั้นความจริงจะเปิดเผยกับพวกเขา คนหนุ่มช่วยเขาเมื่อเขาต้องการช่วยคนหนุ่ม เขาสอนคนหนุ่มค้นหาความยุ่งยาก ในสิ่งที่ดูเหมือนปรากฏแน่ชัดอยู่แล้ว เขาทำให้คนหนุ่มสับสน บังคับให้ต้องคิด ต้องพินิจพิเคราะห์ สอบถามอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า และต้องตอบโดยไม่บ่ายเบี่ยง พวกคนหนุ่มทนสิ่งนี้ได้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าความจริงคือสิ่งที่ประสานคนเข้าด้วยกัน จากความเป็นจริงอันเป็นรากเหง่าเดิมนี้ ภายหลังความตายของโสคราตีส จึงได้เกิดมีการพัฒนากวีนิพนธ์ร้อยแก้วแห่งบทสนทนาขึ้น โดยเพลโต
โสคราตีสไม่ได้โจมตีลัทธิโซฟิสต์เสียทั้งหมด เหมือนเพลโต เขาไม่ก่อตั้งพรรค ไม่โฆษณาชวนเชื่อ ไม่แก้ตัว ไม่ก่อตั้ง สำนักหรือสถาบัน โสคราตีสไม่ได้พัฒนาโครงงานการปฏิรูปรัฐขึ้นมา ไม่ได้พัฒนาระบบความรู้ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นกับสาธารณชนหรือกับสมัชชาประชาชนเป็นการเฉพาะ “ฉันพูดกับปัจเจกชนเสมอ” เขากล่าวไว้ใน อาโพโลเกีย พร้อมอธิบายอย่างเย้ยหยันว่า เพราะไม่มีใครกล้าพูดกับฝูงชนอย่างตรงไปตรงมา จึงรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ดังนั้นเจ้าแห่งความยุติธรรมผู้รักตัวกลัวตาย สมัครใจพูดกับปัจเจกชนดีกว่า ข้อโต้แย้งนี้สามารถพิจารณาได้ในแง่ความลึกล้ำ ความไม่จริงของกิจการงานรัฐ โดยไม่คำนึงว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นอะไร ประชาธิปไตยหรืออภิชนาธิปไตยหรือทรราชย์ ไม่อาจเยียวยาได้ด้วยการทำงานใหญ่ทางการเมือง การปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นจะเป็นไปไม่ได้เลย เว้นแต่ ปัจเจกชนจะได้รับการศึกษาด้วยการให้การศึกษาตนเองเสียก่อน เว้นแต่ภาวะที่ซ่อนเร้นของเขาจะถูก ปลุกตื่นสู่ความเป็นจริง ด้วยการหยั่งรู้ที่เป็นความเข้าใจภายใน กอรปด้วยความรู้ที่เป็นคุณธรรมในขณะเดียวกัน ผู้ใดเป็นคนจริง ผู้นั้นเป็นพลเมืองแท้
นอกเหนือไปจากความสำเร็จและความเป็นประโยชน์ของโสคราตีสในรัฐแล้ว ปัจเจกชนมีความสำคัญยิ่ง ความเป็นเอกภาพอันเนื่องมาจากการเป็นนายตัวเอง เสรีภาพที่มีฐานรากจากความรู้เเท้จริง จะทำให้คนคนหนึ่งจะสามารถเผชิญหน้ากับความตายได้
4. แก่นสารชีวิตของโสคราเต็ส
โสคราตีสไม่ได้ส่งมอบปัญญา หากแต่ทำให้คนอื่นค้นหาในสิ่งที่คิดว่าเขารู้ โสคราตีสทำให้เขาสำนึกรู้ความไม่รู้ของตัวของเขาเอง ถ้าปรัชญาเป็น “ลัทธิคำสอน” โสคราตีสไม่ใช่นักปรัชญา ถ้าประวัติศาสตร์ของปรัชญากรีกถูกถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มีสถานะในทางทฤษฎี ไม่มีที่สำหรับโสคราตีสในนั้น นัยสำคัญของวิธีการเข้าสู่ปัญหาของโสคราตีสอยู่ตรงที่เราต้องรู้จักความไม่รู้ของเราแล้วลงเรือล่องความคิด โสคราตีสรู้เส้นพรมแดนที่การสนทนายุติ การซักไซ้ไล่เรียงที่สัจจธรรมหยั่งรากลึก สิ่งนี้ คือที่สัจธรรมตั้งมั่นและเจิดจ้าอยู่
ความเชื่อเเรก ของโสคราตีส ความรู้ความเข้าใจจะมีขึ้นถ้าเราพากเพียรในการซักถามอาศัยการยอมรับในสิ่งที่เรายังไม่รู้ เราย่อมจะเข้าถึง ความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต อย่างที่สอง ความเชื่อที่โสคราตีสมีต่อเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนครรัฐ อย่างที่สาม ความวางใจที่เขามีต่อเทพประจำตัวเขา ก. ขณะถกปัญหาคุณธรรมกับโสคราเต็ส เมโน (ในบทสนทนาของปลาโต้) ก็ถูกขับต้อนจนมุมด้วยคำถามของโสคราเต็ส “แม้ก่อนหน้าจะได้พบกับท่าน” เมโนพูด “พวกเขาก็ได้บอกข้าพเจ้ามาแล้วด้วยความสัตย์จริงว่าท่านมักเป็นคนขี้สงสัย พลอยทำให้คนอื่นมึนงงไปด้วย มาตอนนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านกำลังใช้เวทมนตร์และคาถาสะกดให้ข้าพเจ้าตกอยู่ใต้อำนาจของท่าน กลายเป็นแค่ก้อนเนื้อไร้ประโยชน์ก้อนหนึ่งเท่านั้น ถ้าข้าพเจ้าบังอาจแหย่ ท่านที่เปรียบเหมือนปลากระเบนชายธงที่พบในท้องทะเล ใครไปต้องตัวมันเข้า มันก็จะเล่นงานเอาจนมึนงง เเละถ้าท่านเป็นคนต่างถิ่น เเต่ประพฤติตัวเยี่ยงนี้ ท่านจะถูกจับกุมตัวอย่างไม่ต้องสงสัย โทษฐานเป็นหมอเวทมนตร์คาถา” ฝ่ายโสคราตีส : “ถ้าปลากระเบนชายธงทำความมึนชาให้ผู้อื่นเพียงเพราะมันทำให้ตัวเองมึนชาแล้วละก็ ความหมาย ของการเปรียบเทียบอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ในความหมายอื่น ข้าพเจ้าทำให้ผู้อื่นมึนงงไม่ใช่เพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว ความจริงมีอยู่ว่าข้าพเจ้าเพาะเชื้อให้พวกเขา ข้าพเจ้าเองรู้สึกมึนงงด้วย” ในสภาพจิตอย่างเดียวกัน เธเอเตตุสพูดว่าเขาเวียนหัว โสคราเต็สตอบว่านี้เป็นการเริ่มต้นปรัชญา
จากความมึนงงเติบโตเป็นการหยั่งรู้ ใน เมโน เรื่องนี้ถูกแสดงออกในรูปของนิทาน เปรียบเทียบ : ทาสคนหนึ่งทีแรกถือดีว่าตนรู้คำตอบปัญหาคณิตศาสตร์ ต่อมาพบอุปสรรคเข้าจึงได้สำนึกรู้ความโง่เขลาของตน กว่าเขาจะมาถึงทางออกที่ถูกต้องได้ต้องใช้เวลานานผ่านคำถามมากมาย ตาม ตัวอย่างที่แสดงนี้ ความจริงมาหาเราในรูปการสนทนา ความจริงยังไม่เป็นที่ล่วงรู้แก่คู่สนทนา แต่ความจริงอยู่ที่นั่น คนทั้งคู่วนเวียนอยู่รอบ ๆ โดยมีความจริงเป็นมัคคุเทศก์
โสคราตีส ต้องการช่วยตั้งต้นให้คนออกแสวงหา แต่ในการแสวงหาโสคราตีสต้องการให้ พวกเขามั่นใจการค้นหา เขาเปรียบ (เธเอเตตุส) กิจกรรมนี้ของเขากับศิลปะของหมอตำแย เธเอเตตุสไม่รู้ คำตอบ เขาคิดว่าตัวเองหาคำตอบไม่ได้แน่ “กระนั้น” เขาพูด “ข้าพเจ้าสลัดคามปรารถนาทิ้งไปไม่ได้ “ท่านเจ็บท้องคลอดบุตร” โสคราเต็สพูด “ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีอะไร หากพร้อมแล้วจะให้กำเนิด” โสคราตีสพรรณนาวิธีการพูดของเขากับคนหนุ่มต่อไป ไม่ต่างกับหมอตำแย เขาสอบให้แน่เสียก่อนว่ามีการตั้งครรภ์จริงหรือไม่ กรรมวิธีของเขามีทั้งปลุกและปลอบ เขารู้จักจำแนกการเกิดแท้การเกิดเทียม ตัวเขาเองเขายอมรับว่าเป็นหมัน พวกที่กล่าวหาว่าโสคราตีสเอาแต่เที่ยวซักถามจึงชอบแล้ว เพราะ “เทพบังคับให้ข้าพเจ้าเป็นหมอตำแย แต่ไม่อนุญาตข้าพเจ้าให้กำเนิด” พวกที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขาทีแรกดูเหมือนยิ่งพูดยิ่งโง่ แต่นั่นเพราะพวกเขาหลุดพ้นจากความรู้เทียม ดังนั้น “ถ้าเทพเมตตาพวกเขาแล้ว พวกเขาย่อมก้าวหน้า น่าพิศวงกันได้ทุกคน เห็นชัดทีเดียวว่าพวกเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรจากข้าพเจ้าเลย แต่สำหรับข้าพเจ้าและเทพแล้ว พวกเขาเป็นหนี้การคลอดของตัวเอง”
โสคราตีสไม่ได้ส่งมอบปัญญา หากแต่ทำให้คนอื่นต้องค้นหา คนอื่นคิดว่ารู้ แต่ โสคราตีสทำให้เขาสำนึกรู้ความไม่รู้ของเขา ดังนั้นจึงพาเขาไปพบความรู้แท้ในตัวเอง จากความลึกล้ำ ชายผู้นี้ก็ได้ค้นพบสิ่งที่เขาเคยรู้แล้วขึ้นมา โดยความไม่รู้ว่าตนรู้ นี้หมายความว่า แต่ละคนต้องค้นหาความรู้ในตัวเอง ความรู้ความเข้าใจไม่ใช่วัตถุซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ สามารถปลุกให้ตื่นขึ้นมาได้อย่างเดียว ตอนที่ความเข้าใจปรากฏขึ้น มันเหมือนการรำลึกอะไรสักอย่างที่รู้นานมาแล้ว และนื่คือสาเหตุที่ทำไมฉันจึงแสวงหาปรัชญาได้ทั้งที่ไม่รู้ พวกโซฟิสต์คนหนึ่งกล่าวว่า : ฉันแสวงหาได้แต่สิ่งที่ฉันรู้ ถ้าฉันรู้ฉันไม่ต้องแสวงหา ถ้าฉันไม่รู้ฉันแสวงหาไม่ได้ อย่างไรก็ดีในทัศนะของโสคราเต็สการคิดปรัชญาเป็นการแสวงหาสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว แต่ฉันรู้โดยจิตไร้สำนึก ประหนึ่งว่าความทรงจำลางเลือนแต่โบราณ มาบัดนี้ฉันใคร่รู้มันในแสงบรรเจิดของจิตสำนึกของฉัน การตั้งคำถาม การพิสูจน์หักล้าง การทดสอบของโสคราตีสย่อมได้รับการค้ำจุนอยู่ด้วยความวางใจฉันใด คนด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้าย่อมจะบรรลุถึงความจริงด้วยความคิด ไม่ใช่ความคิดเหลวไหลในถ้อยคำ หากแต่ความคิดเปี่ยมด้วยความหมายจากเเหล่งกำเนิดต่างหาก จึงเป็นความเชื่อถือได้ด้วยเหตุนี้ ข. โสคราเต็สเชื่อในบรรดาทวยเทพตามขนบความเชื่อที่สืบเนื่องมา เขาบูชาเทพเหล่านั้น เชื่อฟังเทวโองการเดลฟี เข้าร่วมงานนักขัตฤกษ์ ศาสนานี้ที่บอกชาวกรีกไม่ให้ทำอะไร ไม่ให้ปรารถนาใน สิ่งใด ความปรารถนาและความคิดทั้งปวงสืบสาวเอาความหมายมาจากมัน ศาสนานี้สามารถทำให้เจือจางลงได้ หรือทำให้จับต้องแทบไม่ได้เลยก็ได้ และนี้ก็คือสิ่งที่พวกโซฟิสต์หลายคนได้กระทำกัน หรือไม่เช่นนั้นเราก็มีชีวิตอยู่ในศาสนานี้ ปฏิบัติกิจศาสนาด้วยความเคารพสักการะ ค้นหาฐานรากในศาสนานี้ ปราศจากศาสนาทุกสิ่งย่อมไร้ฐานราก และนี้ก็เป็นสิ่งที่โสคราตีสได้กระทำลงไป ด้วยเหตุนี้โสคราตีสจึงมีชีวิตอยู่ด้วย “ความเชื่อ” อันสง่า มีสำนึกในตัว มีชีวิตอยู่ในความชัดเจนในตัว
โสคราตีสผูกพันอย่างแยกไม่ออกจากรัฐบ้านเกิดเมืองนอนของเขา รัฐของโสลอน สงครามเปอร์เซีย เปรีเคล็ส* มันเป็นรัฐที่สร้างขึ้นมาบนกฎหมาย สถาปนาขึ้นแต่เมื่อครั้งสมัยเก่าแก่จนจดจำไม่ได้ *Solon เป็นหนึ่งในเจ็ดปราชญ์กรีกผู้ตรากฎหมายให้นครรัฐเอเธนส์ ส่วน Pericles เป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย สมัยที่เขาปกครองเอเธนส์กลับมาเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน เขาเป็นนักแสดงสุนทรพจน์ เป็นนายพลและรัฐบุรุษ ผู้แปลไทยแล้ว และได้รับการต่อเติมเสริมแต่งอยู่สืบมา ปราศจากกฎหมายชีวิตเป็นสิ่งนึกคิดไม่ได้ นี้เป็นคำอธิบายต่อความเคารพเชื่อฟังกฎหมายของโสคราตีส ในการไต่สวนคดีหลังเหตุการณ์สู้รบ ที่อาร์กีนูซาเอ เขาปฏิเสธที่จะให้คำตัดสินของคณะลูกขุนได้เป็นมติ เพราะภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่เวลานั้น วิธีการดำเนินการดังกล่าวเป็นการผิดต่อกฎหมาย เขาปฏิเสธที่จะหลบหนีจากที่คุมขัง ปฏิเสธการทำลายกฎหมายที่ยังคงสมเหตุผล ในฐานะของกฎหมายอยู่ ถึงแม้มันจะรับใช้เค้าโครงความอยุติธรรมก็ตาม จะไม่มีสิ่งใดมาแปรเปลี่ยน ทัศนคติอันนี้ได้เลย พวกทรราชย์คณะสามสิบสั่งห้ามไม่ให้เขาทำการสอน พวกประชาธิปไตยกลับมอบความตายให้กับเขา เขาไม่ขึ้นสังกัดกับพรรคกับคณะใด หากมียึดมั่นไม่หันเหต่อมโนคติเรื่องกฎหมายตามรูปแบบประวัติศาสตร์ของนครรัฐเอเธนส์ มันเหลือที่จะคิดที่โสคราตีสผู้พูดก็แต่กับปัจเจกชนผู้ถือเอาความรับผิดชอบส่วนบุคคลเป็นความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ผู้ทำให้ทุกสิ่งจำเป็นต้องตรวจสอบต้องวิจารณ์ จะใช้รัฐเป็นเครื่องมือสนองความทะเยอทะยานส่วนตัว เหมือนกับกรณีของอัลซีบีอาเต็ส มีไม่น้อยจับอาวุธขึ้นต่อต้านบ้านเกิดเมืองนอนของตน เขาไม่มีความประสงค์ที่จะเป็นพลเมืองโลกที่ไม่มีรากเหง้า เรื่องการอพยพไปอยู่ที่อื่นย่อมจะไม่เกิดขึ้นกับเขาเป็นอันขาด เหมือนกับกรณีของเอ็สฆีลุสอพยพไปอยู่ซิซีลีหรือเอ็วรีบีเด็สอพยพไปอยู่ที่มาเคโดนีอา ผู้เฒ่าเหล่านี้ชื่นชมกับประเทศชาติของตน เขารู้มากไปกว่า คำถามที่ว่าการมีอยู่ของเขาแยกไม่ออกจากเอเธนส์ใน อาโปโลจี ของปลาโต้ เมื่อโสคราเต็สได้รับข้อเสนอให้เลือกเอาระหว่างการลี้ภัยกับความตาย เขาเลือกเอาความตาย : “ชีวิตที่ดีที่น่าจะเป็นสำหรับข้าพเจ้า คนอายุปูนนี้ ต้องทิ้งถิ่นฐานประเทศของตัวเองออกระเหเร่ร่อนจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งตลอดเวลา ที่เหลืออยู่ของชีวิต (อย่างนั้นหรือ ผู้แปลไทย)” ใน ครีโต(crito) โสคราตีสวาดจินตนาการว่ากฎหมายได้มา ซักถามเขาและท่าทีที่เขามีต่อกฎหมายก็ได้เผยออกมาในช่วงนี้ : ขอบคุณกฎหมายที่เขาเกิดมาได้สมรสภายใต้กฎหมาย ได้เป็นพลเมืองเอเธนส์ บิดาจึงสามารถให้การอบรมเลี้ยงดูเขาได้ โสคารตีสชี้ให้เห็นการค้ำจุนกฎหมายด้วยการปฏิเสธที่จะทิ้งเอเธนส์ไป ด้วยการเลือกเอาความตาย แทนการเนรเทศ โสคราตีสไม่ได้ ตีตนเสมอกฎหมาย หากแต่รับรองพันธะที่ตนจะต้องเชื่อฟังกฎหมาย เขาต้องยอมรับคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเขา ดุจเดียวกับพลเมืองต้องกระทำตามคำสั่ง ให้ออกสู่แนวหน้าโดยไม่บิดพริ้ว เขาไม่มีสิทธิชูมือขึ้นต่อต้านประเทศ มากไปกว่าต่อต้านพ่อแม่ ถึงแม้เขาจะเชื่อว่า เขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม
สิ่งนี้แยกโสคราเต็สออกมาจากพวกโซฟิสต์ แม้ว่าการซักถามเชิงวิจารณ์แบบไม่ปรานีของเขาอาจจะทำให้เขาดูเหมือนเป็นคนหนึ่งในหมู่พวกโซฟิสต์ เขาก็ไม่เคยหนีไปจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ของเขาเลย กลับสำนึกรู้กฎหมายของนครรัฐอย่างน่าเลื่อมใส สิ่งน่าจดจำและคือลักษณะพิเศษในตัวโสคราตีส : เขานำการวิพากษ์ของเขาไปถึงเเก่นเเท้ เเต่ไม่เคยยุติการสำนึกรู้โองการสัมบูรณ์ ที่อาจเรียกได้ว่าสัจจะ ความดี หรือเหตุผล สำหรับเขาแล้วโองการนี้เป็นเครื่องเเสดงถึงความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อใคร ? เขาไม่รู้ แต่เขาพูดถึงบรรดา ทวยเทพ อะไรที่อาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง ย่อมจะยืนหยัดมั่นคงอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้คือประเด็นที่เขาเน้น แต่ครั้นเมื่อความชั่วร้ายบังเกิดขึ้นแก่เขา เมื่อความอยุติธรรมเล่นงาน เมื่อนครรัฐทำลายเขาเสียเอง โสคราตีสมีชีวิตอยู่ด้วยคติพจน์ข้อที่ว่าทนทุกข์ดีกว่าก่ออธรรม โสคราตีสไม่รู้จักการขบถรัฐ ขบถโลกและขบถพระเจ้า เขาไม่สืบสาวลงไปถึงบ่อเกิดแห่งความชั่วร้าย ประหนึ่งว่าพระเจ้าได้ให้เหตุผลเอาไว้แล้ว เขาไม่รู้จักความสิ้นหวังที่เกิดจากปัญหาความยุติธรรมสูงส่ง ไม่รู้จักคำตอบที่ยังความพอใจให้กับ คำถาม หากแต่เอาความสงบใจไม่ไหวหวั่นออกมาจากความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัว ไม่ว่าผลแห่งโชคชะตาปรากฏให้เห็นในโลกอย่างไร สิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่สำคัญ : การมีชีวิตอยู่ตามปทัฎฐานของความจริง ชี้ให้เห็นได้ชัดในความคิด ค. สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรมหาเสมอเหมือนมิได้ ในทัศนะของโสคราตีสนั้น ไม่สามารถใช้เหตุผลตัดสินได้เสมอไป ทวยเทพทั้งหลายได้ให้ความช่วยเหลือเรา ความช่วยเหลือนี้มีขอบเขตนอกเหนือนั้นมีได้เพียงเชื่อฟัง ไม่จำเป็นต้องเข้าใจ โสคราตีสเล่าเรื่องเทพประจำตัวที่มาพูดกับเขาในห้วงเวลาสำคัญสมัยเมื่อครั้งเขายังเด็กเสียงนี้ “…มักห้ามแต่ไม่บังคับว่าข้าพเจ้าจะต้องไม่กระทำอย่างนั้นอย่างนี้” ยกตัวอย่าง เสียงนี้กล่าวไม่ทุกเมื่อที่เขาคิดจะก้าวเข้าสู่ชีวิตทางการเมือง เมื่อลูกศิษย์ที่ละ จากเขาไปต้องการกลับมาหาเขา เทพประจำตัวก็แสดงการคัดค้านเป็นการเฉพาะราย ไม่ทุกราย ระหว่างการไต่สวนคดีความเขา เสียงนี้เงียบ เขาจึงพบว่ามันแปลกและทำให้เขาเกิดมีกำลังใจขึ้นมา “เมื่อเร็ว ๆ นี้ อานุภาพแห่งจิตสูงส่ง…ก็ยังคงคัดค้านข้าพเจ้าอยู่สม่ำเสมอหากข้าพเจ้าจะทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดพลั้งพลาดหรือเลอะเลือนแม้เป็นแต่เรื่องไม่สลักสำคัญอะไร และเวลานี้ท่านย่อมเห็นอยู่แล้วว่ามีสิ่งเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าที่อาจคิดได้ว่าเป็น…ความชั่วครั้งสุดท้ายที่เลวร้ายยิ่งนัก (คำพิพากษาให้ประหารชีวิต) แต่เสียงแห่งเทวะ ไม่ได้แสดงอาการคัดค้านแต่อย่างใด ไม่ว่าข้าพเจ้าออกจากบ้านในเวลาเช้า หรือเมื่อระหว่างข้าพเจ้า เดินทางมาศาล หรือเมื่อข้าพเจ้ากำลังพูดอยู่นี้…อาณัติสัญญาณที่เคยเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำย่อมจะ ขัดขวางข้าพเจ้าอย่างแน่นอน หากข้าพเจ้ากำลังจะไปสู่ความชั่ว ไม่ไปหาความดี” (อาโปโลจี) “ก่อนหน้าข้าพเจ้า” โสคราตีสพูด “ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะเคยมีใครได้รับความกรุณาด้วยเสียงเตือนทำนองเดียวกันนี้หรือไม่” เสียงมิได้นำความรู้มา มิได้แนะให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเฉพาะเจาะจง เพียงแต่พูดว่าอย่า มันห้ามไม่ให้เขาพูดหรือทำอะไรที่จะมีผลชั่วร้ายตามมาในภายหลัง และโสคราตีสเชื่อฟัง ข้อห้ามพวกนั้นโดยไม่ไปพยายามทำความเข้าใจมัน มันไม่ใช่โองการมีจริงภายนอกความคิด แต่เป็นความที่ไม่อาจสื่อสารกันได้ มันใช้ได้ก็แต่กับการกระทำของตัวโสคราตีสเอง
5. การพิจารณาคดีความ
ชีวิตของโสคราเต็สไม่ใช่ละคร ยกเว้นตอนจบ เขาตายโดยไม่ท้าทายหรือตัดพ้อ “ข้าพเจ้า ไม่โกรธผู้ตัดสินประหารชีวิตข้าพเจ้า หรือผู้ฟ้องร้องกล่าวหาข้าพเจ้า” ชีวิตของโสคราเต็สไม่ใช่ละคร ยกเว้นตอนจบ การพิจารณาความคดีหมิ่นเทพเจ้าของเขาจบลงด้วยคำพิพากษาให้ประหารชีวิตผลที่ออกมานี้มิใช่เรื่องบังเอิญ ประวัติศาสตร์อันยาวนานนำไปสู่ผลใน (บทละครเรื่อง) หมู่เมฆ (Clouds, 423) อริสโตฟาเน็สวาดพรรณนาตัวโสคราตีสว่าเป็นผู้ผูกมัดตนกับปรัชญาธรรมชาติ สาละวนอยู่กับปรากฏการณ์บนฟ้าสูงและสิ่งเบื้องล่างใต้โลก ปฏิเสธบรรดาทวยเทพ ตามขนบความเชื่อที่สืบเนื่องมานาน เพราะเขาเอาอากาศและหมู่เมฆมาแทนที่ สอนศิลปะการอ้างเหตุผลแม้ผิด ๆ และเรียกเงินเป็นค่าสอน-ตรงกันข้ามโดยแท้ทีเดียวกับโสคราเต็สที่เรารู้จัก นับจากนั้นก็มี ข้อกล่าวหาใหม่ ๆ เกิดขึ้น เขาถูกฟ้องว่าสอนคนหนุ่มให้เกียจคร้านวางหลักคำสอนที่ผิดศีลธรรมจากการ ตีความบทกวี ในจำนวนลูกศิษย์ของเขาก็มีศัตรูของประชาชนอย่างอัลคีบีดีสและไครเทียสรวมอยู่ด้วย อะไรทำให้ภาพผิด ๆ น่าพิศวงนี้เกิดขึ้น? สมัยเมื่อเขายังหนุ่ม แน่ละโสคราตีสสาละวนอยู่กับปรัชญาธรรมชาติและลัทธิโซฟิสต์ แต่เหนืออื่นใดทั้งหมดเขาถูกมองว่าเป็นตัวแทนขบวนการปรัชญาใหม่ ทั้งขบวนที่ถูกต่อต้านจากมติมหาชน ประชาชนสับสนเอาคนที่เหนือพ้นลัทธิโซฟิสต์แล้วไปปะปนกับตัวลัทธิโซฟิสต์เอง เพราะกรรมวิธีการใหม่ที่พวกเขาปฏิเสธนั้นมันเหลือจะทน โสคราตีสถามไม่หยุดหย่อน เขาต้อนผู้ฟังของเขาเข้าสู่ปัญหาพื้นฐานของคน แต่ไม่เฉลย ความสับสนคือความสำนึกของผู้ด้อยกว่า และข้อเรียกร้องที่เขาสร้างขึ้นนั้นก่อให้เกิดความโกรธและความเกลียดขึ้นมา ปฏิกิริยาดังกล่าวอันหนึ่งนั้นเป็นของอิปเปียส : เพราะท่าน “เยาะเย้ยผู้อื่น ซักถามและตรวจสอบคนทุกคนไม่เคยตั้งใจแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองบ้าง หรือแถลงความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่เคยมีเลย” (เซโนฟ็อน) และดังนั้นในปี 399 โสคราเต็สจึงถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา “ละเมิดกฎหมาย เพราะเขาไม่เชื่อในเทพเจ้าทั้งหลายของประเทศของเรา ประกอบกิจศรัทธาความเชื่อในปิศาจตนใหม่ และชักนำคนหนุ่มหลงทาง” ดูเหมือนโสคราตีสไม่นำพาข้อกล่าวหาเหล่านี้ตลอดเวลาหลายปี ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นไม่มีวรรณกรรมมาปกป้องปรัชญาเขา ตัวเขาเองไม่เคยเขียนสักบรรทัด เขาไม่เคยถอนตนสู่ความสันโดษแบบคนชั้นสูง ทั้งไม่จำกัดคำสอนของเขาไว้ในแวดวงที่เลือกสรรแล้ว หากแต่สอนอยู่ตามข้างถนนและย่านร้านตลาดต่อหน้าสาธารณชน โสคราตีสพูด และนี้เป็นประเด็นหลักในการป้องกันตนเองว่า พระเจ้าสั่งให้เขาใช้ชีวิตไปกับการค้นหาตนเองและผู้อื่น “ข้าพเจ้าจะเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังท่าน และขณะที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจและแข็งแรงอยู่ ข้าพเจ้าจะไม่เลิกการขบคิดปรัชญา จะไม่เลิกเคี่ยวเข็ญคนที่ข้าพเจ้าพบ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ข้าพเจ้าจะกล่าวแก่เขาตามแบบของข้าพเจ้า : ท่านผู้เป็นสหายของข้าพเจ้า…ท่านไม่ละอายใจบ้างหรือ…สนใจปัญญา เอาใจใส่สัจจะและการทำความดีให้เกิดในวิญญานแม้เพียงสักเล็กน้อยท่านก็ ไม่เคยเหลียวแลหรือนึกถึงมันเลย ?” แล้วการป้องกันตนเองก็กลับเป็นการโจมตีพวกผู้พิพากษา “เพราะถ้าพวกท่านฆ่าข้าพเจ้า” เขาประกาศ “พวกท่านจะค้นพบคนอย่างข้าพเจ้าไม่ได้ง่าย ๆ ถ้าให้ข้าพเจ้าเปรียบเปรยซึ่งน่าหัวเราะ คนแบบข้าพเจ้าคือตัวเหลือบที่พระเจ้าประทานมาให้กับเมือง…เกาะติดพวกท่านเสมอ ปลุกเร้าชักชวนและตำหนิพวกท่าน… (แต่) พวกท่านอาจรู้สึกโมโหฉุนเฉียวคล้ายคนที่ถูกปลุกให้ตื่นจากหลับในทันที และอยากทุบตีข้าพเจ้าให้ตายในทันใด…จากนั้นจึงล้มตัวลงหลับไปตลอดชีวิตที่เหลือของพวกท่าน” ความตายของเขามากกว่าอย่างอื่นที่ สลักเสลาจินตภาพของโสคราตีส ที่ล่วงเข้าไปในขนบจารีต เขาเป็นคนยอมตายเพื่อปรัชญา เป็นเหยื่อตุลาการฆาตกรรมในอุ้งมือของประชาธิปไตยเอเธนส์ แต่คนบางคนมีคำถามกับการประณามการตัดสินความเขาครั้งนี้ คำโต้แย้งของพวกเขาโดยคร่าว ๆ เป็นดังนี้ : โสคราตีสอาจเอาชีวิตรอดได้โดยง่าย ด้วยการขอใช้สิทธิป้องกันตนเอง เขาหมิ่นคำพิพากษาก็ด้วยความ ถือดีท้าทายอำนาจของมนุษย์ เขาได้รับข้อเสนอที่เป็นทางออกอยู่จำนวนหนึ่ง แต่กลับไม่ฉวยใช้ประโยชน์เอง เขาอาจเลี่ยงโทษประหารได้โดยง่ายเพียงหลบหนีไปเท่านั้น เขาปฏิเสธที่จะสร้างสันติกับธรรมนูญที่ ไม่ได้จารึกของชุมชน เขาจงใจเป็นเหตุแห่งความตายของตน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่ตุลาการฆาตกรรม แต่เป็นตุลาการอัตวินิบาตกรรม บรรดาผู้มีความเห็นดังกล่าว ผู้ถือว่าไม่ใช่ฆาตกรรมแต่เหยื่อต่างหากที่รู้สึกผิดย่อมพลาดไม่เข้าใจว่าภารกิจอันประเสริฐของเขา ในการทำงานเพื่อสัจจะต่างหาก ที่ห้ามโสคราเต็สไม่ให้หลวมตัวยอมรับเเละหลบหนี โสคราตีสยอมพลีชีพเพื่อยืนยันในสัจจะ เขาเป็นพยาน ข้อโต้แย้งบทตั้งตุลาการฆาตกรรมเหล่านี้มีประโยชน์สำหรับคำพิพากษาของเราที่มีไม่ใช่ต่อโสคราตีส หากแต่ต่อผู้อ่านเรื่องราวของโสคราตีส การป้องกันตัวของเขาก็เหมือนกับทุกสิ่งที่โสคราตีสทำลงไป มันอันตรายต่อการทำความเข้าใจของเรา สมเหตุสมผลต่อเมื่อเชื่อมเข้ากับปรัชญาของเขา พิจารณาในแง่นามธรรม มันสอนให้ผู้อ่านมีท่าทีผิด ๆ ขบถหัวอื้อ เป็นการทำให้ศีลธรรมดีขึ้นแบบผิด ๆ แทนที่จะก้าวเข้าไปสู่ภาวะจิตใจพื้นฐานของโสคราตีส ตัวของผู้อ่านนั้นเองจะกลายเป็นคนอวดเด่นถือดี โดยการมองแบบไม่ตั้งใจว่าโสคราตีสเป็นคนอวดดี มีความสุขจากการที่ ดูหมิ่นประชาชนและผู้พิพากษา
โสคราตีสเท่านั้นที่จะสามารถสมานตัวเราเข้ากับความตายของเขาได้ เขาตายโดยไม่ท้าทายหรือตัดพ้อ “ข้าพเจ้าไม่โกรธผู้ตัดสินประหารชีวิตข้าพเจ้า หรือผู้ฟ้องร้องกล่าวหาข้าพเจ้า” นี้เป็นวาทะสุดท้ายของเขา เขาเชื่อมั่นว่าสำหรับคนดีแล้วย่อมจะไม่มีความชั่ว มูลเหตุอันนี้ของเขาจะไม่ถูกทวยเทพทอดทิ้ง ปัจฉิมวาทะของโสคราตีสนั้นคือ : “ข้าพเจ้าขอบอกแก่พวกท่าน คนที่ฆ่าข้าพเจ้าว่า หลังการจากไปของข้าพเจ้าแล้ว โดยทันทีโทษทัณฑ์…จะตกแก่พวกท่าน…จะมีผู้ฟ้องร้องกล่าวหาพวกท่านมากกว่าที่มีอยู่เวลานี้ แต่ก่อนข้าพเจ้าได้เหนี่ยวรั้งพวกเขาเอาไว้ พวกเขาจะไม่เกรงอกเกรงใจพวกท่าน อีกต่อไป พวกเขาจะทำกับพวกท่านยิ่งกว่าข้าพเจ้า เพราะพวกเขายังหนุ่ม หากพวกท่านคิดว่าการฆ่าคนสามารถทำให้พวกท่านป้องกันคนบางคนไม่ให้มาตรวจสอบชีวิตชั่วร้ายของพวกท่านได้แล้ว พวกท่าน เข้าใจผิด

**คาลร์ จัสเปอร์ (Carl Jasper 1881-1965) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เเละจิตเเพทย์ มีบทบาทในกลุ่มเเนวคิด อัตถิภาวะนิยม( Existentialism) เเละ ปรากฎการณ์การนิยม (Phenomenology)

ไม่มีความคิดเห็น: