จากบทสนทนาเรื่องยูไทโฟร เราสามารถเข้าใจได้ว่ากิจกรรมที่เรียกว่าปรัชญานั้นมีลักษณะอย่างไรโดยการวิเคราะห์วิธีที่โสกราตีสใช้
๑. เมื่อยูไทโฟรตอบอย่างมั่นใจว่า การดำเนินคดีกับบิดาของตนเป็นสิ่งที่ "pious" โสกราตีสจึงกล่าวกับยูไทโฟรว่า ขอให้สอนตนด้วยว่า การกระทำที่เรียกว่า pious นั้นเป็นอย่างไร ยูไทโฟรก็ให้คำอธิบายอย่างมั่นใจ แต่ก็ถูกโสกราตีสแย้งว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ยูไทโฟรไม่ผิดจากคนทั่วไปในแง่หนึ่ง กล่าวคือคนส่วนใหญ่มักจะมีความมั่นใจว่า รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อสอบถามความเข้าใจของบุคคลต่าง ๆ ในเรื่องเดียวกัน มักจะให้คำตอบที่ไม่ตรงกัน ทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่าทรรศนะของใครถูก หรือถ้าคำตอบตรงกัน (ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการสั่งสอนของสังคม) คำตอบนั้นอาจจะไม่เคยได้รับการตรวจสอบด้วยเหตุผล และเมื่อตรวจสอบด้วยเหตุผลก็พบว่าเป็นคำตอบที่ไม่น่าจะถูกต้อง เช่น เมื่อยูไทโฟรให้คำตอบอย่างมั่นใจ แต่จำนนต่อข้อค้านของโสกราตีส และต้องหาคำตอบใหม่ แสดงว่ายูไทโฟรไม่เคยตรวจสอบความเชื่อของตนเอง จนกระทั่งมาพบกับโสกราตีส ดังนั้นสิ่งแรกที่เราเรียนรู้จากกิจกรรมของโสกราตีสก็คือ ปรัชญาคือกิจกรรมที่สอบถามความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วว่าถูกต้องหรือไม่
๒. เริ่มจากวรรคสุดท้ายของหน้า ๒๕ โสกราตีสชี้แจงกับยูไทโฟรว่า คำตอบที่ตนต้องการ ไม่ใช่บัญชีรายการของการกระทำต่าง ๆ ที่ pious แต่ต้องการทราบว่าบรรดาการกระทำเหล่านั้นมีคุณสมบัติอะไรร่วมกันที่ทำให้เราจัดเอาไว้ในประเภทเดียวกันว่าเป็นกระทำที่ pious ในเรื่องนี้ ขอให้เราเทียบดูกับคำสั่งสอนทางศีลธรรม เช่นศีล ๕ ข้อ หรือบัญญัติ ๑๐ ประการ เมื่อศาสนาสอนศีลธรรม ก็มักจะแจงเป็นข้อ ๆ ว่าการกระทำที่ดีมีอะไรบ้าง ที่ไม่ดีมีอะไรบ้าง แต่โสกราตีสกำลังถามให้ลึกลงไปถึงต้นตอว่า เมื่อเราอยากทราบว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น pious หรือคุณสมบัติอื่น เช่น ความกล้าหาญ ความยุติธรรม คืออะไร การแจกแจงรายการของการกระทำที่มีคุณสมบัตินั้น ไม่ใช่คำตอบที่ให้ความรู้ที่แท้จริง คำตอบที่จะให้ความรู้ต้องบอกว่าคุณสมบัตินั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะถ้าเรามีคำตอบนี้ เมื่อเราไปประสบกับการกระทำที่ไม่อยู่ในรายการที่เรารู้จัก และต้องตัดสินว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญหรือไม่ ยุติธรรมหรือไม่ เป็นต้น เราจะสามารถตัดสินได้ แต่คนที่รู้แต่บัญชีรายการการกระทำที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าคุณสมบัตินั้นคืออะไร จะไม่สามารถตัดสินการกระทำที่ไม่อยู่ในรายการได้ว่ามีคุณสมบัตินี้หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง โสกราตีสต้องการเจาะลึกลงไปถึงแก่นสาร กล่าวได้ว่ากิจกรรมของปรัชญาคือการแสวงหาคำตอบที่ลึกไปกว่าสามัญสำนึก ระบบความเชื่อที่เรามียังอยู่ในระดับพื้นผิว ความรู้อยู่ในระดับที่ลึกลงไป เป็นความรู้ในแก่นสารของสิ่งต่าง ๆ
๓. โสกราตีสสอบถามยูไทโฟรด้วยจุดประสงค์ที่จะแสวงหาความรู้ ไม่ใช่เพื่อเอาชนะหรือเพื่ออวดวาทศิลป์ วิธีการที่โสกราตีสใช้คือการอ้างเหตุผลตามหลักตรรกศาสตร์ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าการอ้างเหตุผลเท่านั้นที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความจริง ตัวอย่างการใช้หลักตรรกศาสตร์ของโสกราตีส เช่น ในบทสนทนาตอนหนึ่ง โสกราตีสต้องการพิสูจน์ว่า การกระทำที่ pious เป็นคนละสิ่งกับการกระทำที่เป็นที่รักของเทพ โสกราตีสพิสูจน์มาก่อนแล้วว่า ข้อความ ๒ ข้อต่อไปนี้จริง
1. what is pious is loved because it is pious, and not pious because it is loved.
2. What is god-beloved is god-beloved because the gods love it, and that they do not love it because it is god-beloved
จากนั้น โสกราตีสจึงสมมติว่า การกระทำที่ god-beloved กับการกระทำที่ pious เป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่า เราสามารถเอาวลีทั้งสองไปแทนกันได้ในทุกที่ ดังนั้น ถ้าเอา god-beloved ไปแทน pious ในข้อ 1 ก็จะได้ข้อ 3
3. what is god-beloved is loved because it is god-beloved
ซึ่งขัดแย้งกับข้อ 2 ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจริง และถ้าเอา pious ไปแทน god-beloved ในข้อ 2 ก็จะได้ข้อ 4
4. what is pious is pious because the gods love it
ซึ่งขัดแย้งกับข้อ 1 ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจริง ดังนั้นโสกราตีสจึงสรุปว่า การกระทำที่ god-beloved กับการกระทำที่ pious ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะถ้าเป็นสิ่งเดียวกัน จะนำไปสู่ความเท็จ จะเห็นได้ว่า กิจกรรมของปรัชญาคือการใช้เหตุผลตามหลักตรรกศาสตร์เพื่อแสวงหาความจริง ตรรกศาสตร์เป็นเครื่องมือของนักปรัชญา
๔. แต่ในท้ายที่สุด โสกราตีสก็ไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจจากยูไทโฟร และโสกราตีสเองก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ตนคิดว่าถูกต้อง บ่อยครั้งที่การถกเถียงกันทางปรัชญาจะลงเอยเช่นนี้ คือไม่ได้คำตอบที่ต้องการ หรือไม่ได้คำตอบที่ทุกคนเห็นพ้องกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่ได้อะไรขึ้นมา ในกรณีของบทสนทนาเรื่องยูไทโฟร อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าคำตอบเช่นไดที่ไม่ถูกต้อง การทำให้คำตอบที่เป็นไปได้มีจำนวนน้อยลงเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในการหาความรู้ ทำให้การถกเถียงในอนาคตสามารถจำกัดวงให้แคบลง
วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น